Post-Traumatic Shipping Disorder หรือ PTSD
ไม่ใช่อาการผิดปกติ ของปลาที่เกิดขึ้นโดยเชื้อโรค หรือปรสิต และเป็นความบังเอิญ ที่พบอาการนี้จากการสังเกตุว่า… ปลาที่ศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์ทะเล Inland Aquatic (IA) ที่ตั้งใจจะนำมาจับคู่ เพื่อนำมาจำหน่ายแก่วงการปลาทะเลสวยงาม แต่การจับคู่นั้นสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และต้องใช้ระยะเวลานาน เพื่อให้การจับคู่ประสบผลสำเร็จได้ดี แต่เมื่อระยะเวลาในการกักกันนานขึ้น อัตราการตายก็เพิ่มขึ้นมากจนผิดปกติ ซึ่งในตอนแรก ทาง IA สันนิษฐานว่าอัตราการตายที่เพิ่มขึ้นมีสาเหตุมาจากการดูแลที่ไม่ดีพอ และ-หรือระบบยังไม่เข้าที่
จากนั้นก็เลยนำข้อมูลที่มีอยู่ มาพยายามหาวิเคราะห์หาสาเหตุ ซึ่งทาง IA พบว่า ปลา Flame Angel (Centropyge loriculus) ที่อยู่นานเกินช่วงเวลาประมาณ 6 อาทิตย์ขึ้นไป มีอัตราการตายเพิ่มขึ้นมากจนน่าแปลกใจ แต่เนื่องจากปลาส่วนใหญ่จะถูกจำหน่ายออกหมดภายใน 3 อาทิตย์แรก จึงไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นเพราะเหตุบังเอิญ หรือไม่
ทาง IA จึงเริ่มทดลองกักปลาแองเจิ้ลแคระทั้งหมดที่ผ่านเข้ามาในศูนย์ไว้ให้นานกว่า 6 อาทิตย์ การทดลองดังกล่าว ทำให้พบสถิติการตายอันน่าตกใจว่า มากกว่า 75% ของปลาแองเจิ้ลแคระทั้งหมด ตายลงภายหลังจากเวลาผ่านไปประมาณ 6 อาทิตย์ แต่ก็ยังโชคดีที่มากกว่า 95% ของปลาแองเจิ้ลแคระพันธุ์ C. argi อยู่รอดหลังจากผ่านช่วงเวลา 6 อาทิตย์ไปแล้ว
จากการค้นพบครั้งนี้ทำให้ IA มั่นใจว่าการตายของปลาไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความผิดพลาดของศูนย์ แต่เป็นปัญหาที่เริ่มขึ้นที่ตัวปลา ก่อนถูกนำเข้ามาที่ศูนย์ ซึ่งแปลว่า ปัญหาอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนทำการจับ หรือระหว่างการขนส่ง
IA คาดว่าความพยายามในการจับคู่ปลาแองเจิ้ล Potter (C. potteri) ก่อนหน้าการค้นพบครั้งนี้ อาจจะล้มเหลวตั้งแต่เริ่ม แต่ก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่ามันเป็นไปได้ยังไง? ทั้งๆ ที่ระบบภายในศูนย์ก็ปกติดีทุกอย่าง… ปลาก็สมบูรณ์ แข็งแรงดี ปัญหาจึงไม่น่าอยู่ที่ปลา แล้วปลา Flame Angel ก็เป็นปลาที่เลี้ยงง่ายอยู่ไม่ใช่หรือ?
ภายหลังจากการสนทนากับ Bill Addison และนักเพาะพันธุ์ปลาทะเลอื่นๆ IA ค้นพบว่าหลายคนมีประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกัน ทำให้เริ่มเข้าใจว่า IA ได้ค้นพบอาการประหลาดที่เกิดขึ้นบ่อยมาก จากการเฝ้าดูปลานำเข้าแต่ละพันธุ์เป็นจำนวนหลายร้อยตัวทุกๆ อาทิตย์
ตั้งแต่ไหนแต่ไร วงการปลาทะเลยึดถือว่าถ้าหากเราสามารถลดระยะเวลาในการขนส่งลง อัตราการตายก็จะลดน้อยลง เราเคยเชื่อว่าปลาเป็นสัตว์ที่มีความอดทนสูง แต่ความเครียดสามารถฆ่าปลาได้ ดังนั้นร้านค้าควรจะพยายามหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเครียดให้ได้ มากที่สุดก่อนที่ปลาจะมาถึงร้าน แต่การค้นพบ PSTD ทำให้เราต้องเริ่มพิจารณาความเชื่อนี้ใหม่
การวินิจฉัยอาการ PTSD
ในปัจจุบัน การวินิจฉัย PTSD นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะปลาที่มีอาการ PTSD จะไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนใหญ่จะดูมีสุขภาพดี กิน และว่ายตามปกติเหมือนไม่มีปัญหา อาการนี้พบได้บ่อยมากกับปลา Flame Angel (C. loriculus) ซึ่งอาจจะอยู่อย่างปกติดีในช่วงแรกๆ แต่อีกประมาณ 6 อาทิตย์ต่อมากลับตายลงอย่างกะทันหันโดยไม่มีสาเหตุ ปลาที่แสดงอาการ PTSD ส่วนใหญ่จะเป็นปลาที่มีอัตราการเผาผลาญสูง (High Metabolism) เช่นปลาที่ว่าย, กินตลอดเวลา และขี้ตกใจง่าย เช่น พวก Blennys, Wrasses, Seahorses, Dwarf Angelfishes, Gobies, Tangs และ Butterflyfishes รวมทั้งปลาการ์ตูนบางชนิดด้วย
จำนวนของปลาที่มีอาการ PTSD
ปลาเช่น Flame Angel มากกว่า 5000 ตัว ถูกส่งออกจากฮาวายทุกอาทิตย์ (Flame Angel จากฮาวายได้รับการยอมรับว่าเป็น Flame Angel ที่มีสีสันสวยงามมากที่สุด แต่ก็มีเป็นจำนวนน้อยในน่านน้ำฮาวาย และถือว่าเป็นปลาที่หายาก) ส่วนใหญ่จะอยู่อย่างไม่มีปัญหาในช่วงประมาณ 2 อาทิตย์แรก และมักจะถูกแนะนำว่าเป็นปลาที่เหมาะกับมือใหม่ (เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง) ข้อมูลจาก AMDA ระบุว่ามากกว่า 75% ของ Flame Angel ทั้งหมดตายลงภายใน 6 อาทิตย์แรก สถิตินี้รวมถึงปลาแองเจิ้ลแคระส่วนใหญ่ด้วย (Centropyge sp.)
บทสรุป
Post-Traumatic Shipping Disorder (PTSD) คืออาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับปลาทะเล ซึ่งมีสาเหตุมาจากการกระทบกระทั่งอย่างรุนแรงต่อตัวปลา ในระหว่างการถูกจับ หรือระหว่างการขนส่ง ซึ่งทำให้ปลาตกใจมาก และเครียดจัด ภายในเวลาหลายวันถึงหลายอาทิตย์ หลังจากการโดนจับ ปลาที่มีอาการ PTSD จะตายอย่างกะทันหันโดยไม่มีอาการใดๆ บ่งบอกเลยทั้งสิ้น แม้แต่ปลาที่ปรับตัวเข้ากับตู้ได้แล้ว และมีสุขภาพดีแล้วก็ตาม มีการสันนิษฐานว่า สาเหตุหลักมาจากความเสียหายต่อระบบการย่อยอาหาร ทำให้เกิดการขาดสารอาหารที่จำเป็นในการบำรุงร่างกายปลาในช่วงเวลาที่ปลา เครียดมากที่สุด และต้องการการบำรุงมากที่สุด
ทำยังไง ถึงจะหลีกเลี่ยงปลาที่มีอาการ PTSD
แทบจะสังเกตุจากภายนอกไม่ออกเลย ดังนั้น ถ้าหากจะเลือกซื้อปลาที่มีประวัติ PTSD สูง ก็ควรจะซื้อจากร้านค้าที่เชื่อถือได้ เพราะร้านค้าที่รับผิดชอบสูง มักจะเลือกผู้ส่งปลาที่มีวิธีขนส่งปลาที่ดี และรับรองวิธีการจับปลาที่กระทบกระเทือนปลาน้อยที่สุด
เอกสารอ้างอิง
WHERE HAVE ALL THE ANGELS GONE? A REPORT ON POST-TRAUMATIC SHIPPING DISORDER by Morgan Lidster, Inland Aquatics
(วารสารของ AMDA (หรือ American Marinelife Dealers Association) Volume 6 Issue 4 WINTER ’99-2000)