ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการตั้งตู้เลี้ยงปลาทะเล ซึ่งถ้าข้ามขั้นตอนนี้ไปปลาที่นำมาเลี้ยงจะตายในระยะเวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ เนื่องจากของเสียที่ปลาขับถ่ายออกมาสะสมมากขึ้นจนเป็นพิษกับปลา เนื่องจากเมื่อมีการตั้งตู้ใหม่ๆจะยังไม่มีแบคทีเรียเกิดขึ้นในระบบกรอง ซึ่งทำหน้าที่กำจัดของเสียที่เกิดขึ้นในตู้ ดังนั้นขั้นตอนนี้จึงเป็นการเพิ่มจำนวนแบคทีเรียที่มีหน้าที่กำจัดของเสียให้มีจำนวนมากขึ้นก่อนการปล่อยปลาลงเลี้ยง
แบคทีเรียกลุ่มดังกล่าวเป็นแบคทีเรียที่มีชื่อเรียกว่า “ไนตริฟายอิ้ง แบคทีเรีย, Nitrifying bacteria” ทำหน้าที่เปลี่ยนแอมโมเนียและไนไตร์ต ซึ่งเป็นพิษกับปลาให้กลายเป็นไนเตรต การเกิดและเพิ่มจำนวนของแบคทีเรียดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีองค์ประกอบ 4 ประการ คือ ตัวแบคทีเรียเริ่มต้นสำหรับทำหน้าที่ขยายจำนวนเพิ่มขึ้นให้เพียงพอกับของเสียที่เกิดจากการขับถ่ายของปลา ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปหาที่ไหนเนื่องจากในอากาศและสิ่งแวดล้อมในตู้จะมีแบคทีเรียเหล่านี้อยู่แล้ว สองคืออาหารของแบคทีเรีย ซึ่งก็คือของเสียที่ขับถ่ายออกมาจากปลานั่นเอง แต่การนำปลามาใส่ในขั้นตอนนี้จะทำให้ปลาตายได้เนื่องจากระบบยังไม่มีแบคทีเรียเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ จึงมักจะใช้พวกอาหารปลาหรือเศษเนื้อกุ้งขนาดเล็กๆ ใส่ลงไปในตู้เป็นประจำอาทิตย์ละครั้งต่อเนื่อง 4-6 อาทิตย์ เพื่อให้เกิดการเน่าเสียและเกิดแอมโมเนียที่เป็นอาหารให้กับแบคทีเรีย สาม คือ ที่อยู่ของแบคทีเรีย ซึ่งแบคทีเรียชนิดนี้จะเกาะติดกับผิววัสดุ เช่น บนวัสดุกรองที่เตรียมไว้ หรือบนหินและทรายที่อยู่ในตู้ สี่ คือ อากาศหายใจซึ่งในตู้ก็จะมีอากาศที่เป่าลงไปในน้ำอยู่แล้ว
เมื่อในตู้ที่ตั้งไว้มีองค์ประกอบครบทั้ง 4 ประการ และเดินระบบกรองทิ้งไว้ ให้ตรวจคุณภาพน้ำ เป็นประจำทุก 2-3 วัน จะพบว่าในช่วงแรกปริมาณแอมโมเนียที่ตรวจพบจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆจนสูงสุดแล้วจะลดปริมาณลง หลังจากที่แอมโมเนียเริ่มลดลงก็จะตรวจพบว่ามีไนไตรต์เกิดขึ้นและจะมีปริมาณพิ่มขึ้นเรื่อยๆและในที่สุดก็จะลดลง หลังจากที่เริ่มมีไนไตรต์เกิดขึ้น ก็จะสามารถตรวจพบไนเตรต และไนเตรตที่เกิดขึ้นก็จะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับและสะสมอยู่ในระบบตามระยะเวลาที่ผ่านไป เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 4-6 อาทิตย์ แบคทีเรียก็จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ในระบบกรอง และจะทำหน้าที่กำจัดของเสียที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตรวจไม่พบ แอมโมเนียหรือไนไตรต์หรือหากพบก็จะพบในปริมาณที่น้อยมาก ซึ่งเมื่อถึงขั้นนี้ตู้ที่ตั้งไว้ก็พร้อมที่จะลงปลาได้ แต่ก่อนลงควรจะทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำเก่าออกให้เกือบหมดและเติมน้ำใหม่เข้าไปแทนที่
หลายๆท่านอาจจะสงสัยว่าเราต้องรอนานขนาดนั้นเลยเหรอ เร่งให้เร็วกว่านั้นได้ไหม ตอบคือได้ครับ ด้วยเทคโนโลยีที่มีการพัฒนามากขึ้น ทำให้มีแบคทีเรียสำเร็จรูปออกมาวางจำหน่ายเป็นจำนวนมาก ทำให้เราสามารถเร่งการเซ็ทตัวของระบบได้ แต่เราไม่สามารถระบุได้ว่าจะเร็วขึ้นได้มากขนาดไหนทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณ ของเสียที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่ติดมากับหินเป็น ทำให้แต่ละตู้ไม่เหมือนกันนั่นเอง
วิธีการเร่งเวลาการเซ็ทตัวของระบบตู้ปลาทะเล
- นำหินเป็นที่อยู่ในตู้เก่าที่เคยเลี้ยงปลาทะเลไว้อยู่แล้วนำมาใส่ตู้ใหม่หรือหินเป็นที่บำบัดแล้วซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มาก
- นำทรายเป็นหรือวัสดุกรองในตู้ปลาทะเลที่ยังมีการเลี้ยงอยู่แบ่งออกมาใส่ตู้ ใหม่ 1 – 2 ถ้วย โดยวัสดุกรองนั้นให้วางของเก่าอยู่ด่านบนของวัสดุกรองใหม่ หรือสามารถใส่ถุงวางไว้ด้านในตู้เลยก็ได้ครับ
- ใช้แบคทีเรียสำเร็จรูป สามารถเลือกใช้ได้หลากหลาย เช่น
ชุด Starter หรือ Bio Digest
แบคทีเรีย Bio Clear
หาซื้อได้จากร้าน Blue-Space
อย่างไรก็ตามเนื่องจากการนำสิ่งของจากตู้เก่ามาใส่ตู้ใหม่ก็มีข้อเสีย หากตู้ที่เรานำมามีการระบาดของโรคอยู่ ตู้ใหม่ของท่านก็จะติดเชื้อตามไปด้วย ดังนั้นโปรดระมัดระวังเป็นพิเศษครับ
แม้ว่าการใช้แบคทีเรียสำเร็จ รูปช่วยในการเร่งระยะเวลาการเซ็ทตัวของระบบ ท่านยังจำเป็นที่ต้องเพิ่มแอมโมเนียลงในระบบเพื่อให้แบคทีเรียนำไปใช้เพื่อ เพิ่มจำนวน ดังนั้นการใส่กุ้งตายลงไปจึงเป็นสิ่งจำเป็น