ในตู้ปลาทะเล หรือ ตู้ปะการัง ที่มีสาหร่ายเกิดขึ้น หรือ สาหร่ายที่เราตั้งใจที่จะเลี้ยง จำเป็นต้องมีการควบคุมไม่ให้มันเจริญเติบโตมากเกินไป มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาต่อการเติบโตหรือการอยู่รอดของปะการังที่เลี้ยงไว้ได้
ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการเติบโตของสาหร่าย/ตะไคร่
สาหร่าย จะสามารถผลิตอาหารโดยผ่านขบวนการสังเคราะห์แสง กล่าวคร่าว ๆ คือ เปลี่ยน คาร์บอนไดออกไซด์ และน้ำ ให้กลายเป็นออกซิเจนและ น้ำตาล ขบวนการนี้มีความสำคัญมาก ต่อสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในโลก คือในสภาวะที่เหมาะสม สาหร่ายจะผลิตออกซิเจนจำนวนมาก ทำความสะอาดน้ำ และผลิตอาหารให้กับระบบนิเวศน์ จึงดูเป็นการเหมาะสมที่จะให้มีสาหร่ายอยู่ในตู้ปลาทะเลเพื่อให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมในตู้ปลาทะเลที่ดี
ปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อสาหร่าย คือ แสงสว่าง การไหลของกระแสน้ำ อุณหภูมิ สารอาหาร และ คู่แข่งการเจริญเติบโต (รวมถึงสาหร่ายต่างพันธุ์ และผู้ล่ากินสาหร่ายเช่น ปลา ) เราจะมาดูถึงความสำคัญของแต่ละปัจจัยกัน
แสงสว่าง
เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง สังเกตได้ว่าแนวปะการังจะได้รับความเข้มของแสงค่อนข้างสูง ทำให้ปะการังที่เลี้ยงต้องการแสงสว่างมากตามกันไปด้วย แสงจำเป็นต่อสาหร่ายมาก ไม่เพียงแต่ปริมาณ แต่ทั้งสี และระยะเวลาที่ได้รับแสง มีผลต่อปริมาณและชนิดของสาหร่ายที่เกิดขึ้น การใช้หลอดฟลูออเรสเซนส์ ไม่ทำให้เกิดปริมาณแสงที่มากไปในสภาวะแวดล้อมของตู้ปลาทะเล การให้แสง 12-16 ชั่วโมงต่อวันนับเป็นการดี และถ้ามีหลาย ๆ หลอด เป็นการดีที่จะมีการเปิด และ ปิด แต่ละหลอดในเวลาที่ต่างๆ กัน เป็นการเลียนแบบ การขึ้น และ ตกลงของดวงอาทิตย์ และการให้แสงจำเพาะต่อชนิดของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในตู้ก็เป็นการสำคัญ ซึ่งควรจะได้ศึกษาต่อไป
ปริมาณสารอาหาร (Nutrient)
ก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกอันหนึ่ง ที่มีผลกระทบต่อประชากรสาหร่าย สาหร่ายเส้นผม ( hair algae ) และ สาหร่ายเมือก ( slime algae ) จะเติบโตเร็วมากเป็นผลจากมีธาตุอาหาร คือ ไนเตรต และ ฟอตเฟต เป็นปริมาณมาก ในแนวปะการังมีปริมาณอาหารต่ำ ซึ่งเป็นไปร่วมกับการที่มีสัตว์กินพืชอยู่เป็นจำนวนมากในแนวปะการัง ทำให้มีปริมาณสาหร่ายน้อยในแนวปะการัง สาหร่ายขนาดใหญ่บางชนิด ต้องการเหล็ก ( iron ) และ ธาตุอาหารรอง ( trace elements ) หลายชนิด เพื่อการเติบโตที่ดี ตู้ที่มีแสงน้อย ธาตุอาหารมาก และมีการไหลเวียนของน้ำต่ำ จะดูไม่สวยเนื่องมาจากมีสาหร่ายเส้นขน และ สาหร่ายเมือก เติบโต
การไหลเวียนของกระแสน้ำ (Flow)
มีผลในทางเดียวกันกับ ธาตุอาหาร กล่าวคือ ในที่มีการไหลเวียนของกระแสน้ำน้อย จะเกิดพื้นที่ที่มีการสะสมอาหารมาก และสาหร่ายจะเจริญเติบโต และใช้ คาร์บอนไดออกไซด์กับธาตุอาหาร อย่างรวดเร็ว ต่อจากนั้นจะหยุดขบวนการสังเคราะห์แสงและตายลง สาหร่ายขนาดใหญ่หลายชนิด ต้องการการไหลเวียนกระแสน้ำค่อยข้างมากเพื่อให้มีการไหลเวียนของธาตุอาหารมากพอ จึงพบว่ามันเติบโตอยู่ในน้ำที่มีการเคลื่อนที่ตลอด ถ้ามันไปเติบโตในที่ ๆ มีการไหลเวียนกระแสน้ำน้อยเมื่อไหร่ ก็จะถูก สาหร่ายเส้นผม ขึ้นมาบดบัง
อุณหภูมิ จะมีผลกระทบต่อสาหร่ายเมื่อมันมีการเปลี่ยนแปลงมาก ๆ จึงไม่ค่อยพบปัญหาในตู้ที่มีการควบคุมอุณหภูมิ
การกำจัดซากสารอินทรีย์ (Exporting Detritus)
(เป็นผงฝุ่นตะกอนที่เกาะและจับอยู่ตามพื้นผิว หิน และซอกต่าง ๆ)
เป็นผลพวงจาก การหมักหมม และย่อยสลายของ หิน ขี้ปลา ซากพืช ซากสัตว์ และสารอินทรีย์อื่น ๆ การเกิด และ เพิ่มขึ้น ของตะกอน เป็นปัญหาสำคัญของการดูแลตู้ปลาทะเลและปะการัง มันเป็นเสมือนหัวเชื้อที่ทำให้เกิดการแตกตัวขยายพันธุ์เป็นอย่างมากของสาหร่าย (เหตุผลง่าย ๆ คือมันประกอบไปด้วยฟอตเฟต และ สาหร่ายเติบโตดีถ้าได้ฟอตเฟต และถ้าเราไม่ได้ตรวจสอบนาน ๆ ก็จะพบปัญหานี้) แม้แต่ในน้ำสะอาด หรือน้ำดื่มเอง เราก็จะพบปัญหานี้ได้ในบางจุด แล้วเราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไรกัน??
สิ่งเหล่านี้สามารถนำออกมาจากตู้ได้เป็นอย่างดีด้วย การกรองวิธีกายภาพ (mechanical filtration) เช่นการใช้ใยแก้ว หรือ ฟองน้ำ สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถถูกดูดซับได้ด้วยถ่านคาร์บอน และไม่ถูกย่อยสลายด้วยการกรองวิธีชีวภาพ ( biological filtration ) จำเป็นต้องนำมันออกมาด้วยตนเองโดยใช้ วัสดุการกรอง (filter media) ที่มีขนาดของตาห่างที่เล็กพอ ที่จะเก็บรวบรวมมันได้ วิธีการง่าย ๆ คือการใส่วัสดุกรองไว้ในช่องน้ำล้นที่กั้นกรอง และต้องการๆ เปลี่ยนอย่างต่ำ สัปดาห์ละครั้ง ถึง สองครั้ง ขึ้นกับปริมาณของการก่อตัวของตะกอนซากสารอินทรีย์ ถ้าลืมมัน อาจอุดตันและทำให้น้ำท่วมได้
วิธีการเอาออกมาล้างที่ดีคือการซัก เราอาจนำปั๊มน้ำมาเป่าก้อนหิน และ รอบ ๆ ตัวปะการัง ทุก 2-3 วันเพื่อให้ตะกอนได้หลุดออกมากับน้ำ เพื่อที่วัสดุกรอง จะได้กรองมันออกไป แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ตะกอนเหล่านี้จะหนัก และตกตะกอนนอนก้นในเวลาที่เร็วมาก ในที่ ๆ มีการไหลเวียนของน้ำต่ำจะเกิดปัญหาการสะสมขึ้นได้ วิธีการที่เราจะตู้ได้คือการเอาใยแก้วไปวางทิ้งไว้มุมใดมุมหนึ่ง ถ้ามีตะกอนติดอยู่มากแสดงว่ามีการเกิดของตะกอนมาก และควรได้รับการแก้ไข ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิด ภาวะเกินสมดุลของสารอินทรีย์ เป้าหมายของการจัดการดูแลปะการังในตู้ปลาคือ ไม่ให้มีภาวะเกินสมดุลของสารอินทรีย์นี้ (ถ้าให้มีสารอินทรีย์ในปริมาณต่ำจะเป็นการดีมาก) วิธีการให้เกิดขึ้นคือการเปลี่ยนน้ำ ใช้โปรตีนสกิมเมอร์ และใช้วัสดุที่มีการจับรวบรวมตะกอนสารอินทรีย์ออกไปทิ้งได้ดี เช่นกุงกรอง
ใช้ ปูเสฉวน (Hermit Crab)
แม้เราจะทราบว่า ปลาแท้งค์ จะเป็นสัตว์กินพืชที่ดีมาก แต่พบว่าพวกแท้งค์นี้จะมีความเฉพาะเจาะจงต่อ species หรือ ชนิดของสาหร่าย อีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจคือใช้ ปูเสฉวนขาฟ้า (Blue-legged Hermit Crab) เป็นปูเสฉวนที่ตัวเล็ก และค่อนข้างทน เป็นที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นพวกกินพืชที่เก่ง ขณะเดียวกันก็มีความสามารถในการทำความสะอาดในส่วนซอกลึก ๆ ในขณะเดียวกัน ข้อที่ดีกว่าปลาแท้งค์ คือ ไม่จำเป็นต้องให้อาหาร และ มีของเสียน้อยกว่าพวกแท้งค์มาก ในขณะที่ปูเสฉวนขาสีน้ำเงินพวกนี้กินสาหร่ายมากมาย พวกมันอาจกิน cyanobacteria และ dinoflagellates ได้ในบางกรณี และ ปูเสฉวนพันธุ์อื่นไม่พบว่าสามารถกินสาหร่ายได้ดีเท่าพันธุ์ขาสีน้ำเงินนี้ ในกรณีที่มีการเติบโตของสาหร่ายมาก ๆ อาจใช้ปูเสฉวนได้ถึง 1 ตัวต่อน้ำ 1 แกลลอน ได้ทีเดียว
เปลี่ยนน้ำบ่อย ๆ และใช้ Protein Skimmer
เป็นวิธีการกำจัดฟอตเฟตที่ดีอีกวิธีหนึ่ง การเพิ่มขึ้นของตะกอน ทำให้เกิดผลของการเพิ่มขึ้นของฟอตเฟตตามมา เป็นการยากที่จะตรวจสอบระดับฟอตเฟตในน้ำ เนื่องจากชุดน้ำยาตรวจสอบที่จำหน่ายอยู่ทั่วไปจะตรวจสอบแต่ฟอตเฟตที่เป็นอนินทรีย์ (inorganic phosphate) แต่ตัวที่ทำให้เกิดปัญหาคือ ฟอตเฟตที่เป็นอินทรีย์ (organic phosphate) มากกว่า แต่การตรวจต้องอาศัยเครื่องมือและวิธีการที่ซับซ้อนมาก เมื่อดูโดยรวม ก็คือ ปัญหาที่มีสาหร่ายที่ไม่ต้องการเกิดขึ้น เป็นผลพวงมาจาก organic phosphate ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยทั่วไปอาจใช้วิธีการตรวจฟอตเฟตแบบ inorganic และคำนวนเอา ก็พอจะบ่งบอกได้ การเปลี่ยนน้ำ 25 % ทุกสัปดาห์ มีผลดีหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ร่วมกับการนำตะกอนสารอินทรีย์ออกจากระบบ และการเปลี่ยนน้ำก็ควรจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนปะการังช็อก แต่จากที่ติดตามดู การเปลี่ยนน้ำ 25 % ไม่มีผลในความเจ็บป่วยอย่างชัดเจน
อ่านต่อได้ฝนบทความ การเปลี่ยนน้ำของตู้ปลาทะเล
ขัดออก (Elbow Grease)
เป็นอีกวิธีที่ใช้ได้ผล คือนำแปรงขนาดเล็กมาขัดมันออก โดยแปรงไม่ควรจะปนเปื้อนสารเคมีหรือสบู่ที่จะทำอันตรายต่อปะการัง และเป็นวิธีการที่รวดเร็วเมื่อจำเป็นเพื่อความอยู่รอดของปะการัง ถ้าเป็นไปได้ควรดูดสิ่งที่ขัดออกไปในทันทีก่อนที่จะละลายลงกระแสน้ำ การหยุดปั๊มน้ำชั่วคราวขณะขัดเป็นวิธีที่จะช่วยได้ และควรล้างแปรงในน้ำจืดบ่อย ๆ เพื่อล้างสิ่งที่ขัดติดมาออกไปก่อนนำไปขัดใหม่
ลดจำนวนปลาลง
เมื่อปลามาก ก็มีความต้องการอาหารมาก ในระบบเล็ก ๆ ที่เราใช้มักไม่พอที่จะมีการผลิตอาหารเลี้ยง การให้อาหารปลาจึงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดฟอตเฟตเพิ่มขึ้น การลดปริมาณของปลาที่เลี้ยงไว้ จึงเป็นการลดฟอตเฟตในทำนองเดียวกัน
ใช้น้ำจืดที่เติมเป็นน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดแบบ RO (Reverse Osmosis)
หรือ Deionized ( กรองดักจับอนุภาคโดยเรซิน ) น้ำจากการประปา โดยปกติจะยังไม่ใช่น้ำที่เราต้องการจริง ๆ ในการเลี้ยงตู้ทะเล เนื่องจากมีส่วนประกอบของ organic phosphate และ โลหะหนัก รวมทั้งคลอรีน และแอมโมเนียด้วย ทำให้ไม่เหมาะสมที่จะนำมาเลี้ยงตู้ทะเลโดยไม่ผ่านการบำบัด
ลดเวลาของการให้แสงสว่าง สาหร่ายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ขึ้นกับแสงสว่างเหมือนปะการัง แสงน้อยลง ก็มีการเติบโตน้อยลง การลดแสงสว่าง 1-2 ชั่วโมงต่อวันเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์สามารถทำได้โดยไม่มีผลกระทบต่อปะการังมากนัก
การใช้วิธีหนึ่งวิธีใดอย่างเดียว ไม่เพียงพอจะทำให้ปัญหาหมดไปได้ และโปรดจำไว้ว่าผลที่ดีจะเกิดขึ้นในระยะยาว ดังนั้น ห้ามท้อแท้ และ ดูแลอย่างสม่ำเสมอ ขอให้ประสบความสำเร็จในการดูแลตู้ปลาทะเลและปะการังของท่านทั้งหลายนะครับ
เครื่อง RO คืออะไร อ่านต่อได้ที่ Review เครื่องกรองน้ำเพื่อตู้ปลาทะเล CF-ASI จาก Ginkosea
ใช้สาหร่ายกับตู้ปลาทะเล
เมื่อเราเริ่มต้นตู้ทะเลครั้งแรก ระบบจะอยู่ในลักษณะที่มีแร่ธาตุสารอาหารเพียงเล็กน้อย ไม่เพียงแต่มีปริมาณสิ่งมีชีวิตน้อยเท่านั้น แต่ สภาวะแวดล้อมยังไม่เสถียรภาพ อีกด้วย เช่นมี ความเป็นด่างสูง มี สภาพการออกซิไดซ์สูง และมีสารอินทรีย์อยู่เพียงเล็กน้อย ทันทีที่เริ่มต้น แบคทีเรียและสาหร่ายบางชนิดจะเริ่มเกาะตัวเป็นกลุ่มบนพื้นที่ผิวทั้งหมดในตู้ กระบวนการที่ใช้เวลาและเกิดการเปลี่ยนแปลงของชนิดของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ เราเรียกว่า ” กระบวนการนำไปสู่ความสำเร็จ ” ซึ่ง จุดที่เราเรียกว่า “สำเร็จ” นั้นก็คือ เกิดมีการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตชนิดที่เราต้องการ หรือสาหร่ายที่ดี เป็นการสำคัญที่จะต้องปล่อยให้มีเวลาของตู้ปลาผ่านไปสักระยะ จนถึงจุดที่ระบบสามารถรองรับการเจริญเติบโตของ ชนิดพันธุ์ของสาหร่ายที่เราต้องการได้ โดยทั่วไปตู้ปลาทะเลจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 – 6 สัปดาห์ หลังจากที่วัฎจักรของไนโตรเจน และไนเตรต สมบูรณ์
ไดอะตอมสีน้ำตาล สิ่งแรกที่มักจะเกิดขึ้นในตู้
เป็นแผ่นฟิล์ม เคลือบบนพื้นที่ผิวของตู้ปลา เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งนี้จะหายไป และถูกแทนที่ด้วย แผ่นของสาหร่าย สีน้ำเงินและ สาหร่ายสีแดง ขั้นตอนนี้สามารถเร่งให้เร็วขึ้นได้โดยให้มีแสงสว่างมาก ๆ และ มีการไหลเวียนของกระแสน้ำที่ดี และเมื่อไรที่สาหร่ายที่เกิดขึ้นไม่ใช่สาหร่ายที่มีสีน้ำตาล คุณก็เริ่มคิดได้แล้วว่าจะให้มีสาหร่ายพันธุ์อะไร อยู่ในตู้ของคุณ
แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น เราต้องย้อนมาดูจุดสำคัญก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นลำดับขั้นจาก สาหร่ายหรือตะไคร่ที่มีสีน้ำตาลไปเป็นสีอื่น นั้นคือว่าถ้าสาหร่ายถูกทิ้งไว้ด้วยสภาวะเช่นนั้น จะเกิดการใช้ธาตุอาหาร เฉพาะที่ต้องการจนหมด จนทำให้เกิดสภาวะที่ไม่สามารถเจริญเติบโต หรือมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ นั่นก็คือ “ล้มเหลว” แล้วก็ตาย ต่อมาจึงเกิดสาหร่ายชนิดอื่นที่ไม่จำเป็นต้องใช้ธาตุอาหารเฉพาะชนิดนั้น ในการเจริญเติบโต ( ที่หมดไปแล้ว ) และโตขึ้นมาแทน และทันทีที่คุณสามารถเลี้ยงสาหร่ายชนิดที่คุณต้องการได้แล้ว คุณจะต้องรู้จักตัดตกแต่งมัน เปลี่ยนน้ำ และเติมแร่ธาตุอาหาร เพื่อให้มันเจริญเติบโตและมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ โดยไม่เกิดการ “ล้มเหลว” หรือการตายของสาหร่าย ในทำนองเดียวกัน
ใช้สาหร่ายขนาดใหญ่ เช่นพวก Caulerpa และ Hamilerda
เป็นสาหร่ายที่นิยมนำมาเลี้ยงกันในตู้ทะเล สาหร่ายพวกนี้เจริญเติบโตเร็ว และช่วยทำให้คุณภาพน้ำในตู้ปลาดี บางทีอาจต้องให้มีกระแสน้ำไหลผ่านมันน้อยลงเพื่อให้มันโตช้าลง ควรทำให้แน่ใจด้วยว่าให้แสงเพียงพอกับความต้องการของมัน และ มีการเติบธาตุอาหารบางอย่าง เช่น เหล็ก เพื่อให้มันเจริญเติบโตได้ดี
สาหร่ายเส้นผม (Hair Algae)
จะกลายเป็นสิ่งที่พวกเราไม่ต้องการ เมื่อมันเจริญเติบโตจนคลุมสิ่งต่าง ๆ ในตู้ปลา ( เช่น ปะการัง ) เป็นการดีที่จะควบคุมมัน โดยใช้ สัตว์กินพืช ( herbivores ) ได้แก่ ปลาพวกแท้งค์ขนาดเล็ก ๆ หรือ เม่นทะเลหลาย ๆ ชนิด แต่ถ้าใส่พวกสัตว์กินพืชมากเกินไป พวกมันก็จะกิน สาหร่ายที่คุณต้องการ ไปด้วย แนะนำให้ใส่ลงไป 1 ตัว ต่อน้ำขนาด ประมาณ 200 ลิตร และรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นในตู้ของคุณ
ใช้ Remover ควบคุมไม่ให้เกิดการเติบโตของตะไคร่มากเกินไป
คือการคุม ไม่ให้มีสารอาหารในปริมาณที่สูง ( ไนเตรตและฟอตเฟต ) โดยให้มันอยู่ในระดับขนาดที่วัดไม่ได้ ถ้าระดับฟอตเฟตเกิน 1 ppm ( 1 มิลลิกรัมต่อลิตร ) สาหร่ายเส้นผมก็จะเริ่มเป็นชนิดที่เด่นขึ้นมา สามารถคุมได้โดยการลดการให้อาหาร เปลี่ยนน้ำทีละน้อยบ่อย ๆ และใช้ zeolite resin ที่ดูดจับฟอตเฟตที่มีขายอยู่ทั่วไปในรูปของ phosphate remover
ดูเป็นการวุ่นวายที่จะดูแลให้สาหร่ายที่เลี้ยงไว้สมบูรณ์ แต่สาหร่ายก็เป็นแหล่งผลิตออกซิเจน และอาหาร รวมทั้งใช้ดูแลคุณภาพทางเคมีของน้ำได้ แต่เมื่อเราสามารถไปถึงจุดที่มันสามารถเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์แล้ว ก็เพียงแต่ต้องการการดูแลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
รู้จักกับสาหร่ายสำหรับตู้ปลาทะเล
ตะไคร่น้ำ สาหร่าย น้ำเขียว แผ่นฟิล์มเขียวแดงที่เกิดขึ้น ในสภาวะแวดล้อมของตู้ปลาทะเลที่เราเลี้ยงอยู่ ล้วนมีสาเหตุการเกิดมาจากสาหร่ายทั้งสิ้น ในอันที่จริงแล้ว สาหร่ายทะเลเทียบได้กับพืชที่สำคัญของท้องทะเล ที่สาหร่ายในท้องทะเลมีนับหมื่น ๆ ชนิด ทั้งที่เป็นเซลเดียวและหลายเซล แต่เรายังมีชื่อที่ใช้เรียกมันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
สาหร่ายเป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นประเภทสังเคราะห์แสง แต่ไม่มีระบบลำเลียงเหมือนในพืชบก ขยายพันธุ์โดยใช้สปอร์ (เทียบกับพืชบนพื้นดินที่ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด)
สาหร่ายแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
จุลสาหร่าย (Microscopic algae)
คือสาหร่ายที่มองได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ เป็นส่วนประกอบสำคัญของพวกแพลงตอนที่ลอยอยู่ในน้ำ
มหสาหร่าย (Macroscopic algae)
เป็นสาหร่ายที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีรูปร่างต่าง ๆ กัน เช่น สาหร่ายพวงองุ่น สาหร่ายใบเลื่อย สาหร่ายบางชนิดก็มีวงจรชีวิตแบบสลับ คือ เป็นจุลสาหร่าย แล้วต่อมาพัฒนาเป็น มหสาหร่ายก็ได้ ในธรรมชาติ เราพบ 10 จำพวก ( Division ) ในที่นี้จะกล่าวไว้เพียงแค่ 7 ชนิด ส่วนอีก 3 ชนิดจะเป็นพวกที่ไม่พบบ่อย จำแนกได้ดังนี้
CYANOPHYTES
จำพวกนี้ได้แก่สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน พบขึ้นเกาะตามก้อนหิน และปะการัง เป็นสาหร่ายที่มีบทบาทสำคัญใน nitrogen fixation ที่เปลี่ยน nitrogen จากอากาศ มาเป็น ไนเตรต สู่วัฎจักร ไนโตรเจนสำหรับสิ่งมีชีวิตอื่น
การกำจัดอาจจะต้องใช้ยา หรือใช้การคุมคุณภาพน้ำลด PO4 ลง
EUGLENOPHYTES
เป็นสิ่งมีชีวิตยูกลีนอยด์รูปร่างแปลกประหลาด มีขนาดเล็ก และเคลื่อนที่เร็ว เชื่อกันว่าเป็ฯสิ่งมีชีวิตระหว่างพืชและสัตว์
CHRYSOPHYTES
เป็นกลุ่มใหญ่ที่ประกอบไปด้วย วงศ์ของไดอะตอมเสียเป็นส่วนใหญ่ อาศัยอยู่ในรูปร่างที่มีส่วนประกอบของ Silicon dioxide มักเป็นสาหร่ายตัวแรกที่เกิดขึ้นเป็นโคโลนีในตู้ปลาทะเลใหม่ มีลักษณะเป็นแผ่นฟิล์มสีน้ำตาลปกคลุมทุกพื้นที่ผิว
PYRRHOPHYTES
เป็นพวกไดโนแฟลกเจลลา (Dinoflagellates) อาศัยอยู่ในทะเลเป็นหลัก เป็นสาหร่ายเซลเดียวที่มีองค์ประกอบซับซ้อน สามารถเรืองแสงได้ในเวลากลางคืน ดังที่เห็นตามชายหาด และเป็นสาเหตุของการเกิดปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ (red tide)
CHLOROPHYTES
คือสาหร่ายสีเขียว มีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ตู้ปลาทะเลประสบความสำเร็จ ตัวอย่างของสาหร่ายพวกนี้เช่น Caulerpa, Halimeda (Beavertail Cactus), and Valonia (Sea Grapes)
RHODOPHYTA
สาหร่ายสีแดง ในความเป็นจริงเราจะพบเห็นได้หลายสี มีความแตกต่างระหว่างพันธุ์มากมาย และพบเป็น มหสาหร่าย ( สาหร่ายขนาดใหญ่ ) เป็นหลัก เช่น องุ่นแดง Botryocladia (Red Sea Grapes) และ Porphyra ( สาหร่ายที่เรากินในซูชิ )
PHAEOPHYTA
เป็นสาหร่ายสีน้ำตาล เป็นสาหร่ายที่มีวิวัฒนาการสูงสุด เช่นพวก Macrocyctis มีบทบาทที่สำคัญคือเป็นทั้งอาหาร และที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์ต่าง ๆ ในท้องทะเล