Articles

มือใหม่ อยากเลี้ยงปลาทะเล เลี้ยงปลาอะไรดี?

มือใหม่ เลี้ยงปลาอะไรดี?

ผู้เลี้ยงปลาทะเลมือใหม่ และผู้สนใจจะเริ่มเลี้ยงปลาทะเลหลายรายมักจะนิยมถามผู้ที่เคยมีประสบการณ์ หรือร้านค้าว่า “ปลาอะไรเลี้ยงง่าย สีสวย ราคาไม่แพง และตายยาก”

คำตอบที่ได้ ก็คงแตกต่างกันออกไปตามแต่ละบุคคล หากคุณถามร้านค้า แน่นอนว่าคำตอบที่ได้ก็ต้องเป็นประโยคที่เอื้อกับการค้าของเขา คำตอบที่เราได้รับจึงมักเป็นรูปแบบเดียวกัน ชนิดว่าเป็นสูตรยอดนิยม มาเหมือนกันหมดแทบทุกร้าน ไม่ว่าถามถึงตัวไหนก็จะเป็น “กินไรทะเล อยู่รวมกับปลาอื่นได้ ราคานี้ถูกมากแล้ว ฯลฯ”

แต่ถ้าถามผม..ก็ต้องขอเรียนให้ทราบตามตรงว่า

“ไม่มี”

ถ้าคุณต้องการปลาที่คุณสมบัติครบถ้วนขนาดนั้น กลับไปเลี้ยงปลาน้ำจืด หรือปลาพลาสติกตอนนี้ก็ยังทัน……..

ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าปลาทะเลนั้น ไม่ใช่ของที่ “เลี้ยงง่าย”

คำว่า “เลี้ยงไม่ง่าย” ในที่นี้คือ เป็นงานอดิเรกที่ใช้เวลามาก รวมไปถึงการหมั่นสังเกต และดูแลอากัปกิริยาของปลาในตู้ด้วย ว่ามีอาการผิดปกติไปจากเดิมหรือไม่ อย่างไร นั่นหมายความว่า คุณจะต้องมีเวลาในการดูแลรักษา และใช้เวลาหน้าตู้เป็นประจำทุกวัน ควรจะศึกษาข้อมูลของสัตว์แต่ละชนิดที่จะเลี้ยงโดยละเอียด โดยอาจจะหาข้อมูลจากหนังสือ อินเตอร์เน็ต หรือพูดคุยกับร้านค้า และผู้เลี้ยงที่เชื่อถือได้ ก่อนจะเลือกเลี้ยงสัตว์ที่คุณคิดว่าจะสามารถดูแล และให้สิ่งที่มันต้องการได้มาเลี้ยง ถ้าคุณคิดว่าคุณทำได้

…………ลุยเลยครับ………

แล้วปลาอะไรดีล่ะ ?

ก็ต้องเป็นปลาที่คุณชอบสิครับ อาจจะเริ่มจากการเปิดหนังสือ เป็นเว็บไซต์ ไปเดินดูปลาตามร้านก็ได้ ก่อนจะกลับมาหาข้อมูลว่าปลาที่เราสนใจนั้น สามารถเลี้ยงให้รอดในตู้ปลาได้ไหม ควรจะเลี้ยงอย่างไร และเลี้ยงรวมกับปลาชนิดไหนได้บ้าง การวางแผนที่ดีจะทำให้คุณเลี้ยงพวกเค้าได้ง่ายขึ้นอีกเยอะ

หากปลาที่คุณชอบ มีให้เลือกทั้งแบบที่เป็นปลาที่ถูกเพาะพันธุ์ขึ้นโดยมนุษย์ กับปลาที่จับมาจากธรรมชาติโดยตรง ผมแนะนำให้เลือกปลาเพาะครับ

ถ้าถามว่า ทำไมต้องปลาเพาะ? ก็เพราะว่าปลาที่ได้จากการเพาะพันธุ์โดยมนุษย์นั้น มีข้อดีมากกว่าข้อเสียอยู่เยอะทีเดียว เช่น:

ไม่รบกวนธรรมชาติ

ปลาที่ได้จากการเพาะพันธุ์ ปรับตัวให้เข้ากับที่เลี้ยงได้ง่ายมากกว่าปลาที่จับจากธรรมชาติ ไม่ตื่นตกใจ

รู้อายุของปลาที่แน่นอน

ยอมรับอาหารเม็ดได้ง่ายกว่าจากที่เพิ่งจับมาใหม่ๆ

ไม่บอบช้ำจากการขนส่ง

อย่างไรก็ตาม ชนิดพันธุ์ของปลาที่เพาะพันธุ์ได้ และมีการจำหน่ายในประเทศนั้น ยังมีความหลากหลายน้อยมาก โดยส่วนมากที่เห็นกัน ก็เป็นแค่ปลาการ์ตูนหลากสายพันธุ์ (Amphiprion spp.) / (Premnas biaculeatus.), ลองฟินคาร์ดินัล (Pterapogon kauderni), ออร์คิดด๊อตตี้แบ็ค (Pseudochromis fridmani) แต่ก็คาดว่าคงจะมีแนวโน้มในการเพิ่มชนิดของปลาที่เพาะเลี้ยง และมีความหลากหลายในชนิดของปลาที่ใช้เพาะพันธุ์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ปลาทะเลที่เลี้ยงได้ไม่ยากนัก และเหมาะกับผู้เลี้ยงที่เพิ่งเริ่มต้นนั้น มีอยู่ด้วยกันหลายกลุ่ม โดยมากแล้ว จะเป็นปลาที่ไม่มีความต้องการจำเพาะมากนัก หนึ่งในปลาที่จะพูดถึงคือกลุ่มของปลาสลิดหิน หรือที่เรียกกันติดปากว่าเด็มเซล (Demselfish) ปลาในกลุ่มนี้มีความหลากหลายสูง แม้แต่ปลาการ์ตูนเองก็จัดว่าเป็นปลาในกลุ่มนี้เช่นเดียวกัน ปลาการ์ตูนแทบทุกชนิดนั้นเป็นปลาที่เลี้ยงได้ไม่ยากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าปลามีสภาพดี หรือเป็นปลาที่ได้จากการเพาะพันธุ์ จะเป็นปลาที่เลี้ยงได้ง่าย ควรจะเริ่มเลี้ยงจากปลาตัวเล็กๆ โดยปล่อยให้ปลาโตขึ้นมาเอง โดยปลาที่มีขนาดใหญ่กว่าจะเป็นปลาเพศเมีย และตัวที่เล็กกว่าจะเป็นปลาเพศผู้

กลุ่ม Demsel

เด็มเซลแทบทุกชนิดนั้นเป็นปลาที่เลี้ยงได้ง่าย กินอาหารได้หลากหลาย สีสันสวยงาม อีกทั้งยังมีความอดทนสูง หากแต่ข้อเสียคือ ปลาจำพวกนี้เป็นปลาที่มีอาณาเขตเป็นของตัวเอง จึงค่อนข้างจะหวงถิ่น ทำให้เป็นการลำบากหากต้องการจะปล่อยปลาที่มีขนาดเล็กกว่าลงไปในภายหลัง จึงควรเก็บไว้เป็นตัวท้ายๆ ในการใส่ลงตู้

เด็มเซลแต่ละกลุ่ม ก็มีอุปนิสัยไม่เหมือนกันซักทีเดียว เช่นกลุ่ม Chromis หรือที่เรียกกันในชื่อไทยว่า “ตะกรับ” นั้น เป็นจะเด็มเซลที่ไม่ค่อยดุร้ายมากนัก และนิยมอยู่รวมกันเป็นฝูง เด็มเซลในกลุ่ม Chrysiptera เช่น เด็มเซลฟ้าหางเหลืองนอก (Chrysiptera parasema), เด็มเซลท้องเหลือง (Chrysiptera hemicyanea) และเด็มเซลในกลุ่ม Pomacentrus เช่นเปลี่ยนสีแวว (Pomacentrus alleni) นั้นจะดุกว่าปลาในกลุ่ม Chromis แต่ก็ยังไม่ดุร้ายเท่าพวกเดมเซลขนาดใหญ่อย่าง พวกปลาเสือ (Abudefduf spp.), โดมิโน่ (Dascyllus trimaculatus), เด็มเซลนีออน (Neoglyphidodon oxyodon) ที่เมื่อโตขึ้นจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ดุร้าย และสีสันไม่สวยเท่ากับตอนที่ยังเล็ก

ปลาเหยี่ยว หรือฮอคฟิช

ปลาเหยี่ยว หรือฮอคฟิช ก็เป็นปลาอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจ ปลาในกลุ่มนี้มีขนาดเล็ก ว่องไวปราดเปรียว มักเกาะอยู่ตามหิน หรือพื้น ว่ายเป็นระยะสั้นๆจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ไม่ว่ายไปมาเช่นปลาชนิดอื่นๆ ปลาในกลุ่มนี้มีสีสันสวยงาม แต่ควรมีฝาปิดเพื่อป้องกันการกระโดด และไม่ควรเลี้ยงรวมกับกุ้ง ยกตัวอย่างเช่น เฟลมฮอค (Neocirrhites armatus), อาร์คอายฮอค (Paracirrhites arcuatus), ลองโนสฮอค (Oxycirrhites typus), ปิ๊กซี่ฮอค (Cirrhitichthys oxycephalus)

กลุ่มด๊อตตี้แบ็ค (Pseudochromis spp.)

สตอรว์เบอรี่ (Pseudochromis porphyreus)

กลุ่มปลานกขุนทอง (Wrasse)

ที่เป็นกลุ่มปลาที่ค่อนข้างหลากหลายที่สุดกลุ่มหนึ่งในแนวปะการัง คำว่าปลานกขุนทองนี้ หลายคนอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคย เพราะตามร้านปลามักจะเรียกปลากลุ่มนี้รวมกับปลาในกลุ่ม Parrotfish เป็นพวก “ปลานกแก้ว” ปลานกขุนทองนั้นมีหลากหลายสายพันธุ์ มีทั้งชนิดที่เลี้ยงง่าย และเลี้ยงยาก นกขุนทองในกลุ่ม Cirrhilabrus, Paracheilinus, และ Pseudocheilinus ดูเหมือนจะเป็นกลุ่มที่มีสีสันงดงาม และเลี้ยงได้ไม่ยากนักทุกชนิด นกขุนทองในกลุ่ม Halichoeres หลายตัวก็มีสีสันสวยงามไม่แพ้กัน บางชนิดยังมีความแตกต่างระหว่างเพศที่บ่งชี้ได้ชัดเจน เป็นลวดลายที่แตกต่างกันอีกด้วย นกขุนทองกลุ่ม Coris เช่นแก้วแดง (Coris gaimard) ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจหากตู้มีขนาดใหญ่พอ เพราะพวกมันสามารถโตได้ใหญ่กว่าที่คุณคิด หรือถ้าต้องการเลี้ยงรวมกับปลาที่ค่อนข้างดุร้าย และปราดเปรียว นกขุนทองในกลุ่ม Thalassoma เช่นเขียวพระอินทร์ (Thalassoma lunare) ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ

กลุ่มปลาวัว หรือทริกเกอร์

หากใครชอบกลุ่มปลาที่มีนิสัยค่อนข้างก้าวร้าว เช่นกลุ่มปลาวัว หรือทริกเกอร์ ก็สามารถเลี้ยงได้ หากควรเลือกเพื่อนร่วมตู้อย่างระมัดระวัง ปลาพวกนี้เลี้ยงได้ง่าย ตะกละ กินอาหารได้ทุกชนิด มีลวดลาย และพฤติกรรมที่แปลกตา และเชื่องพอสมควร หลายชนิดมีราคาค่อนข้างสูง แต่ก็ไม่ได้เลี้ยงยากไปกว่าทริกเกอร์ชนิดอื่นๆแต่อย่างใด เช่น คลาวน์ทริกเกอร์ (Balistoides conspicillum) ปิกัซโซ่ทริกเกอร์ (Rhinecanthus aculeatus), ทริกเกอร์ส้ม (Balistopus undulatus) ล้วนเป็นตัวเลือกที่ดี

ปลาไหลจำพวกมอเรย์

ปลาไหลจำพวกมอเรย์ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ สโนว์เฟลคมอเรย์ (Echidna nebulosa), มอเรย์ขอบตาขาว (Siderea prosopeion), มอเรย์สีทอง (Gymnothorax melatremus) ล้วนแต่เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคนชอบปลาไหลที่มีตู้เฉพาะ เพราะไม่ก้าวร้าวมากนัก อีกทั้งยังมีขนาดไม่ใหญ่มากตามธรรมชาติ ปลาในกลุ่มนี้เลี้ยงได้ง่ายมาก ชอบกินอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ การให้อาหารสามารถฝึกให้ปลากินเนื้อสัตว์หั่นเป็นชิ้นๆ จากไม้ที่เสียบให้ได้ ตู้เลี้ยงควรมีฝาปิดเพื่อป้องกันปลาเลื้อยออกนอกตู้

ยังมีปลาอีกมากมายที่สามารถเลี้ยงให้รอดได้ หากมีการเตรียมความพร้อมมาดีพอ ปลาที่นอกเหนือจากที่กล่าวถึง ไม่ได้แปลว่าไม่สามารถเลี้ยงได้ หรือเลี้ยงได้ยากมาก หากแต่ควรมีความรู้ และประสบการณ์ในการเลี้ยงปลาทะเลในระดับหนึ่ง ก่อนจะเริ่มเลี้ยงนะครับ และสุดท้ายนี้ โดยส่วนตัวเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นปลาอะไร จากที่ไหนก็แล้วแต่ พวกมันจะเลี้ยงได้ง่ายขึ้นหากคุณ “ศึกษา” ความต้องการของพวกมัน ก่อนจะนำมาเลี้ยง เพราะจะช่วยลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นได้มากทีเดียว

About author

ชื่นชอบการเลี้ยงปลาตั้งแต่เด็ก เลี้ยงปลาทะเลตั้งแต่อายุ 10 ขวบ
Related posts
Articles

ตะไคร่ในตู้ปลาทะเล

Articles

9 ขั้นตอนในการทำตู้ทะเล (ฉบับ 2021)

Articles

รู้จักกับระบบกรองน้ำในตู้ทะเล

Articles

Palytoxin พิษที่อันตรายถึงตายที่มากับปะการังกระดุมที่ไม่ควรมองข้าม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • ยอมรับ Google Analytics

    ข้าพเจ้ายอมรับให้มีการใช้งาน Google Analytics บนเว็บไซต์แห่งนี้

Save