Articles

การเดินทางของปลาทะเล

แต่ก่อนจะซื้อปลาซักตัว คุณรู้ไหมครับว่า ปลาทะเลสวยงามที่ถูกขายกันอยู่ทุกวันนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร? มาจากไหน? อยากจะให้ทราบกันไว้ว่า กว่าที่ปลาทะเลจะเดินทางมาถึงมือเรา มันต้องผ่านการเดินทางมาอย่างไรบ้าง เพราะ 99% ของปลาทะเลที่มีจำหน่ายในตลาดปลาสวยงามของประเทศไทยนั้นเป็นปลาที่ได้จากการ รวบรวมจากธรรมชาติทั้งสิ้น โดยหลักๆ แล้วแบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือ

หนึ่ง, ปลาที่จับจากในประเทศ – ส่วนมากจะมาจากสองที่ คือ

A) ปลาจากภาคตะวันออกทางอ่าวไทย – ชลบุรี, ระยอง

เป็นปลาที่ จับในอ่าวไทย ปลาที่ได้มักจะมีสีไม่สด และไม่หลากหลายเหมือนกับปลาที่จับทางฝั่งอันดามัน ส่วนมากจะเป็นพวก นกกระจิบ ม้าน้ำ การ์ตูนอินเดียน การ์ตูนอานม้า ตาหวาน

B) ปลาจากทางฝั่งอันดามัน

ปลาที่จับจากที่นี่จะมีความหลากหลาย ทั้งเรื่องสีสัน และรูปทรงมากกว่าที่อื่นๆ เช่น นกแก้วชนิดต่างๆ สินสมุทร แท้งก์หลายชนิด มักมีปลาแปลกๆ ติดมาอยู่บ่อยครั้ง

# หมายเหตุ ปัจจุบันการจับปลาทะเลจากเกาะภูเก็ต ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตมีกฎหมายห้ามจับ ขนส่ง หรือนำออก สัตว์น้ำทะเลหลายชนิด รวมไปถึงปลาในแนวปะการังหลายชนิดด้วย (ปัจจุบันมีการออกกฏหมายห้ามจับสัตว์น้ำสวยงามตามแนวปะการังจากพื้นที่ทาง ภาคใต้ของไทยชั่วคราว)

สอง, ปลานำเข้า ส่วนมากศูนย์กลางการรวบรวมปลา และพักปลาจะอยู่ที่สิงคโปร์ หรือฮ่องกง ก่อนที่จะถูกส่งมายังเมืองไทยอีกต่อหนึ่ง ปลาเหล่านี้จะถูกรวบรวมจากหลายประเทศ เช่น: ฟิลิปปินส์, อเมริกา, อินโดนิเชีย, ทะเลแดง หรือบางร้านอาจจะใช้วิธีสั่งนำเข้าโดยตรงจากประเทศต้นทาง

ร้านค้าหลายร้านนิยมที่จะนำเข้าปลามาขาย มากกว่าปลาที่จับจากในประเทศ เหตุเพราะว่าปลาที่นำเข้า จะมีอัตราการตายในขณะมาอยู่ในมือผู้ขายน้อยกว่าปลาที่จับจากในประเทศ อาจเป็นได้ว่าปลาที่นำเข้า มีการพักปลาก่อนส่ง และบรรจุลงอย่างถูกวิธี ในขณะที่ปลาที่ขนส่งมาจากในประเทศ จะไม่ค่อยมีการพักปลา หรือบรรจุอย่างดีเท่าไหร่

วิธีการรวบรวมปลา

มักจะมีการกล่าวกันว่า ปลาเหล่านี้ถูกรวบรวมมาโดยการใช้ไซยาไนด์ (Sodium cyanide) เพราะว่าเมื่อก่อน การใช้ไซยาไนด์ค่อนข้างเป็นที่นิยมในหมู่ชาวประมง และชาวเลในหลายพื้นที่ ทั้งในประเทศ หรือต่างประเทศเองก็ตาม เหตุที่ใช้ไซยาไนด์ ก็เป็นเพราะว่ามีราคาถูก หาซื้อได้ง่าย อีกทั้งยังทำให้พวกเขาสามารถจับปลาได้ง่ายขึ้น โดยพวกเขาจะว่ายลัดเลาะไปตามแนวปะการัง หรือกองหิน เมื่อพบตัวปลาที่ต้องการแล้ว ก็จะพ่นกระบอกยาที่บรรจุไซยาไนด์ผสมน้ำอยู่ไปที่ปลา ตามซอกหิน หรือกอปะการังที่ปลาเหล่านั้นหลบอยู่ ปลาที่ถูกพิษไซยาไนด์ก็จะเพลีย ทำให้ถูกจับได้อย่างง่ายดาย แต่การใช้ไซยาไนด์จับปลานี้ เป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อแนวปะการังในวงกว้างหลายทาง เนื่องจากพิษของไซยาไนด์นั้น จะทำให้สัตว์ในบริเวณนั้น อย่างเช่นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจำ กุ้ง หอย ปู หรือแม้กระทั่งปลาที่ไม่เกี่ยวข้อง รับสารพิษ จนอาจต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเสียดาย นับว่าเป็นการทำลายแนวปะการังให้เสื่อมโทรมลงทางหนึ่ง

ใช่เพียงแต่แนวปะการังจะถูกทำลาย พ่อค้าปลาสวยงามเอง ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน พวกเขาก็ไม่ได้ดีใจกับการที่เขาได้ปลาสภาพดีเป็นจำนวนมากขึ้น เหตุเพราะถึงแม้ปลาจะอยู่ในสภาพที่ดี เมื่อมาถึงในช่วงแรก ปลาเหล่านี้มักจะไม่แสดงอาการออกมา บางตัวอาจจะมีอาการเหม่อลอย ไม่ค่อยมีปฏิกิริยาตอบรับ แต่เมื่ออยู่ไปได้ซักพักหนึ่ง ปลาเหล่านี้จะมีอัตราการรอดตายที่ต่ำมาก ปลาที่ถูกขายไปมักจะตายอย่างไร้สาเหตุในเวลาเพียงไม่นาน เนื่องจากถูกทำลายระบบการไหลเวียนของเลือด และขบวนการแลกเปลี่ยนก๊าซภายในตัวปลา จนทำให้ลูกค้าเข็ดขยาดไม่กล้าซื้อปลาจากพวกเขาไปเลี้ยงอีก

สิ่งที่ผิดพลาดจากอดีต มักจะเป็น “ครู” ที่ดี ปัจจุบันชาวประมง และชาวเลในต่างประเทศที่ส่งออกปลาทะเลสวยงามเป็นอับดับต้นๆ อย่างฟิลิปปินส์ หรืออินโดนิเซีย ได้ถูกรงณรงค์ และควบคุมให้ใช้ตาข่ายจับปลา แทนการใช้พิษไซยาไนด์ โดยองค์กรอย่าง MAC (Marine Aquarium Council), IMA (International Marine Alliance), ฯลฯ องค์กรเหล่านี้จะทำหน้าที่อบรม และให้ความรู้เกี่ยวกับการจับปลาอย่างถูกวิธี รวมไปถึงการออกใบประกาศนียบัตรรับรองปลาที่พวกเขาจับได้ โดยบางครั้ง เจ้าหน้าที่ก็จะสุ่มตรวจตัวอย่างปลาที่ถูกจับ นำมาทดสอบหาสารพิษในตัวปลา เพื่อให้แน่ใจว่าชาวบ้านจะไม่ย้อนกลับไปใช้ไซยาไนด์ในการรวบรวมปลาหลังจากได้รับรองอีก

วิธีการหาปลาของชาวบ้านที่ได้รับการฝึกสอนก็คือการใช้ ตาข่ายจับ พวกเขาจะออกเรือไปตามแนวปะการัง ก่อนที่จะค่อยๆ หย่อนตัวลงไปใต้ผืนน้ำสีครามเบื้องล่าง เพื่อที่จะรวบรวมปลามาเป็น “ค่าใช้จ่าย” ในครัวเรือน ในฟิลิปปินส์ อุปกรณ์ที่นำลงติดตัวไปมีเพียงตาข่ายจับปลา แว่นตาดำน้ำ และเศษผ้าครอบหน้าไว้สำหรับป้องกันแมงกะพรุน ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่มีฐานะไม่ดีนัก โดยมากจะดำลงไปในสถานที่ไม่ลึกนักโดยปราศจากถังออกซิเจนเฉกเช่นนักดำน้ำทั่ว ไป หากแต่ฝากชีวิตไว้กับสายพลาสติก ที่ส่งอากาศจากเครื่องคอมเพรสเซอร์บนเรือเท่านั้น ระหว่างทิ่อยู่ในน้ำ พวกชาวบ้านจะใช้ตาข่ายอันเล็กๆ ไล่จับปลาตามกอปะการัง บ้างก็กางตาข่ายผืนใหญ่ ใกล้กับแนวปะการังแล้วไล่ปลาออกไปจนติดตาข่าย จึงจะทำการจับใส่ถุงที่เตรียมไว้ เมื่อไล่ไปมากเข้า ปลาที่ตื่นตกใจก็จะว่ายลงไปในที่ลึกลงไปอีก นั่นหมายความว่า เขาก็ต้องดำลงไปลึกกว่าเดิมเช่นกัน และนั่นเป็นการกระทำที่เสี่ยงต่อชีวิตของพวกเขามาก เพราะนั่นอาจจะทำให้เกิดอาการช็อกไนโตรเจน ถ้าหากพวกเขาขึ้นมาสู่ผิวน้ำเร็วเกินไป ปลาที่พวกเขาจับได้อาจจะมีราคาไม่มากนักในขณะที่เขาขายให้กับพ่อค้าคนกลาง แต่พวกมันจะมีราคาสูงขึ้นไปอีกหลายสิบเท่าตัว เมื่อถูกส่งไปยังตลาดปลาหลายแห่งทั่วโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่ปกติสำหรับกลไกของตลาด ถึงปลาที่จับได้จะกลายเป็นเงินจำนวนไม่มาก หรือแม้ต้องฝากชีวิตไว้กับสายพลาสติก แต่เมื่อต้องหาเงินมาใช้จ่าย บางทีก็ไม่มีทางให้เลือกมากนัก…

ผู้จับปลาบางคนอาจจะใช้ลอบ ไปวางไว้ตามจุดต่างๆ ในแนวปะการัง แต่วิธีนี้ ไม่สามารถคาดเดาจำนวน และชนิดของปลาที่จะเข้ามาติดได้ ส่วนใหญ่ปลาที่ได้จะเป็นพวกปลาเศรษฐกิจ จำพวกปลาเก๋า ซึ่งก็ตรงกับเจตนาของผู้วาง หรือถึงแม้ว่าจะเป็นปลาสวยงาม ก็จะเป็นปลาที่มีขนาดกลางๆ ค่อนไปทางใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นขนาดที่ค่อนข้างใหญ่เกินไป ดังนั้น ปลาสวยงามที่ติดมากับวิธีใช้ลอบจึงเป็นแค่ “ของแถม” จากจุดประสงค์หลักเท่านั้น การเลี้ยงปลาทะเลเป็นงานอดิเรกที่เรียกได้ว่า กำลังพัฒนาตามกิจกรรมอื่นๆ อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปลา และสัตว์ทะเลที่แปลกขึ้นเรื่อยๆ ถูกหมุนเวียนในตลาดปลาตามส่วนต่างๆ ของโลกเป็นจำนวนมากในแต่ละปี จากข้อมูลของ International Information Programs ระบุว่า ปลาทะเลถูกจับออกไปจากธรรมชาติในส่วนต่างๆของโลกมากถึง 20 ล้านตัวในแต่ละปี สำหรับป้อนสู่ตลาดปลาสวยงามน้ำเค็มทั่วโลก ซึ่งจากตัวเลขที่เห็น แม้กระทั่งตัวผมเอง ก็รู้สึกว่ามันเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป นักเลี้ยงปลาทุกคนควรที่จะร่วมมือกัน เพื่อที่จะลดตัวเลขนี้ลงโดยทำได้หลายวิธี เป็นต้นว่า ควรจะมีการวางแผนก่อนจะเริ่มทำอะไร ศึกษาชีวิต ความต้องการ และหาข้อมูลของสัตว์แต่ละชนิดที่ต้องการจะนำพวกมันมาเลี้ยงก่อนซื้อ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงชนิดที่มีอัตรารอดต่ำ และเลี้ยงให้รอดยากได้ในระบบปิด ป้องกันไม่ให้เสียทั้งความรู้สึก และเสียทรัพยากรธรรมชาติไปอย่างน่าเสียดาย

About author

ชื่นชอบการเลี้ยงปลาตั้งแต่เด็ก เลี้ยงปลาทะเลตั้งแต่อายุ 10 ขวบ
Related posts
Articles

ตะไคร่ในตู้ปลาทะเล

Articles

9 ขั้นตอนในการทำตู้ทะเล (ฉบับ 2021)

Articles

รู้จักกับระบบกรองน้ำในตู้ทะเล

Articles

Palytoxin พิษที่อันตรายถึงตายที่มากับปะการังกระดุมที่ไม่ควรมองข้าม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • ยอมรับ Google Analytics

    ข้าพเจ้ายอมรับให้มีการใช้งาน Google Analytics บนเว็บไซต์แห่งนี้

Save