การจับปลา Bluetang หรือปลาที่กินสาหร่ายในแนวปะการังมารับประทาน
จะทำให้เกิดพิษ Ciguatera ซึ่งเป็นกลุ่มโรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานปลาทะเลปนเปื้อนสารพิษ
เป็นโรคที่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต
สารพิษชิกัวเทอรา (ciguatera fish poisoning) พบในปลาแนวปะการังน้ำลึก เช่น ปลา Barracuda, snapper, mackerel ,Tang ซึ่งกินสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (Gambierdiscus toxicus) ปลาจะมีการสร้างสาร ciguatoxin แล้วสะสมพิษเอาไว้ ยิ่งปลาตัวใหญ่มากจะสะสมพิษไว้มาก
เมื่อพิษปนเปื้อนปริมาณเพียงเล็กน้อยก็เป็นพิษอย่างรุนแรงได้ สารพิษละลายได้ดีในน้ำมัน ไม่ถูกทำลายโดยความร้อน อบแห้ง แช่แข็ง รมควัน หรือการปรุงในวิธีต่างๆ เป็นพิษต่อระบบทางเดินอาหารและระบบประสาท ขัดขวางการทำงานโคลินเอสเตอเรสของเม็ดเลือดแดง
อาการของพิษ Ciguatera
อาการจะแสดงออกเร็วหรือช้า มากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณสารพิษที่ได้รับและความต้านทานของผู้ป่วยเอง ส่วนมากเกิดขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากบริโภคปลาที่มีพิษ อาการที่ปรากฏอาจจะมีทั้งอาการทางระบบประสาทและอาการทางระบบทางเดินอาหาร หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง
อาการที่เกิดจากระบบทางเดินอาหารเป็นอาการในระยะแรกเมื่อผู้ป่วยรับประทานปลาที่มีพิษเข้าไป โดยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง และปวดท้อง จากนั้นจะปวดเมื่อยกล้ามเนื้อปวดศีรษะ เจ็บปวดตามตัว ชาตามมือ เท้า บริเวณริมฝีปาก รอบปาก ลิ้น และคอ การมองเห็นผิดปกติ หน้ามืด วิงเวียน อาการสำคัญที่พบคือ การรับความรู้สึกต่ออุณหภูมิผิดปกติ เมื่อถูกของร้อนกลับรู้สึกว่าเย็น นอกจากนี้ยังมีอาการหัวใจเต้นผิดปรกติ จนกระทั่งถึงชัก ผู้ป่วยอาจจะถึงแก่กรรมจากกล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาตได้ อาการเหล่านี้อาจเป็นได้อยู่หลายวันจนถึงสัปดาห์ และจะหายไปเองในช่วงเวลาหนึ่ง
แพทย์สามารถให้การวินิจฉัยภาวะพิษจาก Ciguatera ได้จากอาการที่เกิดขึ้นร่วมกับประวัติการรับประทานปลา การตรวจยืนยันพิษสามารถทำได้ด้วย การทดสอบหาปริมาณสารพิษด้วยวิธี Mouse Bioassay และ วิธี Enzyme Immunoassay (EIA) ซึ่งในปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยโดยสถาบัน AOAC (the Association of Official Analytical Chemists)
ภาวะพิษ Ciguatera
ปรากฏการณ์การเกิดพิษที่ทำให้เกิดโรค Ciguatera นี้ มักจะพบมากในหมู่เกาะทะเลใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก อาจมีรายงานว่าปลาชนิดหนึ่งเป็นพิษในบริเวณหนึ่ง แต่อาจจะไม่เป็นพิษในบริเวณใกล้เคียงกัน หรือแม้แต่ในบริเวณเดียวกัน ความรุนแรงของพิษก็ไม่เท่ากัน ปลาทะเลหลายชนิดโดยเฉพาะปลาที่กินสัตว์อาจเป็นพาหะของสารพิษนี้ ได้แก่ ปลาพวกปลาเก๋า ปลาน้ำดอกไม้ ปลาสาก ปลาขี้ตังเป็ด ปลากะรัง ปลากะพงแดง ปลานกแก้ว ปลาไหลทะเล ปลาหมอทะเล เป็นต้น
สภาวะการเป็นพิษมีลักษณะที่น่าสนใจคือ ในระยะแรกจะมีปลาที่เป็นพิษเพียงไม่กี่ชนิด ต่อจากนั้นในระยะต่อมา ปลาเกือบทุกชนิดในบริเวณนั้นจะเป็นพิษ และในระยะสุดท้ายจะมีปลาเพียงไม่กี่ชนิดที่เป็นพิษ ซึ่งปลาที่เป็นพิษในระยะสุดท้ายนี้จะเป็นปลาที่กินเนื้อ (Carnivorous fish) ที่มีขนาดใหญ่
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกซึ่งในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอันเนื่องมาจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ส่งผลให้ระบบความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม (Ecosystem) เปลี่ยนแปลง ทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิเช่น อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณฝน ปริมาณก๊าซออกซิเจน ฯลฯ อีกทั้งปัญหามลพิษต่างๆ เช่น น้ำมันจากเรืออับปาง การทดลองระเบิดปรมาณู ของเสียพวกโลหะหนัก เป็นต้น ล้วนมีผลให้ระบบห่วงโซ่อาหาร (Food chain) เปลี่ยนแปลงได้ทั้งสิ้น
ในประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานเกี่ยวกับการเกิดพิษในกลุ่มอาการของโรค Ciguatera พบเพียงการบอกเล่าว่าการบริโภคปลาทะเลบางชนิดทำให้มีอาการผิดปรกติเกิดขึ้น แต่ได้มีการศึกษาวิจัย และติดตามการเกิดพิษในปลาในลักษณะนี้บ้างแล้ว เนื่องจากผลผลิตทางการประมงเป็นสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูงอันหนึ่งของประเทศ ซึ่งหากเกิดโรคอาจได้รับผลกระทบเสียหายได้
แนวทางการป้องกันภาวะพิษ
หลีกเลี่ยงการรับประทานปลาที่อาศัยในแนวปะการัง
รับประทานปลาที่อาศัยในแนวปะการังแต่น้อยในแต่ละมื้ออาหาร หรือหลีกเลี่ยงการรับประทานปลาทั้งตัวโดยเฉพาะเมื่อรู้ว่าปลามาจากแหล่งน้ำหรือฝูงเดียวกัน ปลายิ่งตัวโตยิ่งมีสารพิษมาก
- หลีกเลี่ยงการรับประทานหัวปลา หนังปลา หรือเครื่องในของปลา เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมพิษ
- หากรับประทานปลา ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอลล์ หรือรับประทานถั่วร่วมด้วย เนื่องจากถ้าเป็นปลาที่มีพิษอาจมีผลให้อาการป่วยรุนแรงขึ้น
- พบแพทย์ทันทีที่มีอาการหรือสงสัยว่ามีอาการเนื่องจากการบริโภคปลาที่มีพิษ
- ควรซื้อปลาจากแหล่งที่เชื่อถือได้
เคยพบผู้ป่วยที่กรุงเทพ 2 ราย (ปี 2007) และภูเก็ต 4 ราย(ปี 2008)