ขั้นที่ 1 การเตรียมและตรวจสอบอุปกรณ์ (ขั้นตอนสำคัญสำหรับคนที่ไม่ต้องการให้ตู้แตก)
ตู้เลี้ยงปลาทะเลไม่ควรตั้งไว้ในบริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลงของอากาศในรอบวันมาก เช่น ตั้งไว้ในบริเวณที่โดนแดดโดยตรงในช่วงใดช่วงหนึ่งของวัน เมื่อตั้งตู้และติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ วัสดุแต่งตู้ รวมทั้งระบบกรองเรียบร้อยแล้ว จึงนำน้ำทะเลหรือน้ำเกลือผสมแล้วมาใส่ในตู้ น้ำทะเลที่ใช้ควรจะเป็นน้ำทะเลที่ผ่านการกรองและพักโดยให้อากาศมาแล้วอย่างน้อย 7 วัน น้ำที่ใช้ควรมีความเค็มอยู่ระหว่าง 32-35 พีพีที หรือมีค่าความถ่วงจำเพาะเท่ากับ 1.023-1.027
ทำความสะอาดตู้ ด้วยน้ำเปล่าและฟองน้ำหรือผ้าเท่านั้น ห้ามใช้สบู่ ผงซักฟอกหรือสารเคมีอื่นๆ เช็คขาตั้งและพื้นว่าแข็งแรงและระนาบดีพอที่จะรับน้ำหนักทั้งหมดของตู้ได้ (ควรคำนวณความจุของน้ำและหน้ำหนักหินที่จะใส่ในตู้) วางตู้ในสถานที่ที่ต้องการตั้ง และติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมด (ฟิลเตอร์ หัวเป่า สกิมเมอร์ ฯลฯ) เติมน้ำเปล่าให้เต็ม เพื่อเช็คระดับการวางของตู้ว่าอยู่ในแนวระนาบดีพอหรือยัง และเช็คตามรอยต่อของตู้ว่ามีน้ำซึมออกมาหรือไม่
ทดสอบตู้โดยการเปิดอุปกรณ์ทั้งหมด เป็นโดยรันระบบไว้ประมาณ 24-48 ชั่วโมง เช็ครอยรั่วซึม และอุปกรณ์ทั้งหมดว่าทำงานเป็นปกติดีหรือไม่ เมื่อทำการเช็คเสร็จแล้วในขั้นนี้ให้ถอดปลั๊กอุปกรณ์ทั้งหมด ก่อนจะปล่อยน้ำออกจากตู้
ขั้นตอนที่ 2 การเตรียมน้ำ
- ใช้น้ำทะเล พยามยามเก็บไว้ในที่ที่ไม่โดนแดด หรือใช้ผ้าคลุมไว้ ตีออกซิเจน
- ใช้น้ำเกลือผสม ผสมตามอัตราส่วนที่ข้างถุง แล้วเปิดหัวเป่าทิ้งไว้ซักสองถึงสามวัน
ขั้นตอนที่ 3 การเตรียมหินเป็น หรือเลือกใช้หินตาย
ควรเลือกใช้หินเป็นที่บำบัดมาแล้ว และเป็นหินเป็นที่ค่อนข้างสมบูรณ์ หากใช้หินเป็นที่ยังไม่ได้บำบัดควรนำไปบำบัดก่อน (โดยการเป่าออกซิเจนทิ้งไว้ซักวันสองวัน) ไม่ควรนำมาใสลงไปในตู้ทันที
ในกรณีที่เลือกใช้หินตาย ให้เตรียมแบคทีเรียสำเร็จรูปเพิ่มเติมด้วย และหินตายต้องไม่มีสารตกค้างของครอรีนในกรณีนำไปแช่คลอรีนมาก่อน
ขั้นตอนที่ 4 การลงหินเป็นและทรายเป็น
ควรวางแผนในการจัดตู้ก่อนซื้อหินเป็นว่าต้องการจัดในลักษณะใด และเลือกซื้อหินเป็นให้เหมาะกับความต้องการ เช่น หากต้องการจัดในลักษณะที่เป็นช่อง หรือถ้ำ ควรคำนึงถึงหินที่เป็นฐานอยู่ด้านล่างควรเลือกที่มั่นคงแข็งแรง ไม่ผุ หรือถล่มง่าย เพราะจะมีผลกับการกระแทกตู้ในภายหลัง ปิดระบบอุปกรณ์ทั้งหมด
ใส่หินเป็นลงในตู้จัดเรียง ตามความพอใจเมื่อเสร็จแล้วเช็คความมั่นคงของโครงสร้าง อาจจะใช้กาว Epoxy ในการติดหินเพื่อความแข็งแรง
ลงทรายเป็นและเศษปะการัง (ไม่ควรลงย้ายหินเป็นขึ้นมาวางบนทรายเพราะสิ่งมีชีวิตบางอย่างจะขุดทรายและทำให้หินถล่มได้) เมื่อลงทรายและปะการังได้ระดับดีแล้ว
ขั้นตอนที่ 5 การเติมน้ำที่เตรียมไว้และเริ่มเดินระบบ
เติมน้ำที่เตรียมไว้ลงในตู้ปลา เปิดระบบอุปกรณ์ทั้งหมด โดยใช้ถ้วยหรือท่อพีวีซีรองเพื่อกันทรายฟุ้งกระจาย เติมน้ำให้ได้ในระดับ และเปิดระบบ รอจนกระทั่งทรายตกตะกอนและน้ำใสดีแล้ว เช็คค่าน้ำต่างๆ ให้เป็นปกติ เช็คระบบไฟ และ อุณหภูมิ
ขั้นตอนที่ 6 การรอระบบเซทตัว (สำคัญมาก)
ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญและขึ้นอยู่กับคุณภาพของน้ำและหินเป็นที่เลือกใช้ ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาระหว่าง 3-6 อาทิตย์ เติมแบคทีเรียลงไปในตู้ จากนั้นเช็คค่าน้ำทุกอาทิตย์และตรวจดูค่าต่างหรือความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะ ammonia (NH3/NH4), nitrite (NO2) และ nitrate (NO3)
Parameter | ค่าที่ควรวัดได้ |
NH3/NH4 | 0 ppm |
NO2 | <0.3 |
NO3 | <10 |
ค่าความเค็ม | 1.025-1.027 |
รอจนกระทั่งระบบเซทตัวเองให้สมบูรณ์ เช็คค่าน้ำให้เป็นปกติมากที่สุดก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป ขั้นตอนนี้ไม่ควรเปลี่ยนน้ำในตู้ และไม่ควรเปิดไฟเพราะจะทำให้เกิดตะไคร่ได้ง่าย
หากใจร้อนอยากให้ตู้เซ็ทเร็วขึ้น โปรดอ่าน วิธีการเร่งเวลาการเซ็ทตัวของระบบตู้ปลาทะเล
ขั้นตอนที่ 7 ศึกษาและวางแผนการเลือกสิ่งมีชีวิต
ควรหาข้อมูลและศึกษาในระหว่างที่รอระบบเซทตัว (เพื่อกันไม่ให้ฟุ้งซ่านและใจร้อน) และ ควรคำนึงถึง ความพร้อมของผู้เลี้ยง เวลาในการดูแล และความพร้อมของตู้ เพราะตู้ปลาทะเลมีลักษณะปลีกย่อยแตกต่างกันออกไปมากระหว่างสิ่งมีชีวิตทั้งหมด และควรทำความเข้าใจถึงความยากง่าย และอายุของระบบในตู้และความชำนาญของผู้เลี้ยงก่อนที่จะเลือกซื้อ และสำหรับสิ่งมีชีวิตที่ละเอียดอ่อนต่อการดูแล ระบบควรเสถียรมากกว่าหกเดือนขึ้นไป
ขั้นตอนที่ 8 การลงปลาหรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
เช็คระบบให้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งใดผิดพลาด และค่าน้ำรวมไปถึงอุณภูมิ ความเค็ม ฯลฯ อยู่ในระดับที่ปกติ เลือกปลาหรือสิ่งมีชีวิตที่ดูแลง่าย ซักสองหรือสามชนิด เพื่อเช็คระบบในตู้ และให้แน่ใจว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นสามารถอยู่ได้สองถึงสามอาทิตย์โดยไม่มีสิ่งใดผิดปกติก่อนจะลงสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นต่อไป
ขั้นตอนที่ 9 การดูแลและรักษาสิ่งมีชีวิตในตู้
หมั่นดูแล เอาใจใส่ และสังเกตสิ่งมีชีวิตต่างๆในตู้ว่ามีสิ่งใดผิดปกติหรือไม่ ศึกษาหาความรู้ในด้านอื่นๆ เช็คระบบน้ำ และบำรุงรักษาเครื่องมืออยู่เสมอ เพราะตู้ทะเลเป็นระบบปิด ต้องการการดูแลเอาใจใส่เพื่อสุขภาพของสิ่งมีชีวิตอยู่มาก