หากเราจะเลี้ยงตู้ปลาทะเล หรือ ตู้จำลองระบบแนวปะการังซักตู้ แสงสว่างมีความจำเป็นแค่ไหน และต้องใช้เท่าไหร่ นี่เป็นที่มาของบทความที่แสนจะพื้น ๆ แต่มีความสำคัญต่อการเลี้ยงตู้ทะเลได้มากเหมือนกัน
พูดถึงเรื่องแสงสว่าง เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนมักจะลืมไปแล้ว ว่าเราอยู่ในโลกที่มีแสงสว่างจากดวงอาทิตย์อยู่ คนเราใช้แสงสว่างในการมองเห็นและสังเคราะห์วิตามินดี ที่ผิวหนัง แล้ว แนวปะการังหละ ใช้แสงสว่างทำอะไร
ในแนวปะการังส่วนใหญ่และเกือบทั้งหมด ขึ้นในบริเวณที่น้ำทะเลไม่ลึกมาก แสงสว่างสามารถส่องถึง แนวปะการังจึงได้รับแสงเหล่านี้ และกลายเป็นผู้ผลิตอาหารป้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารในทะเลอีกทางหนึ่ง ครับ อย่างที่ทุกท่านได้ทราบมาแล้ว ปะการังส่วนใหญ่ จะมี สาหร่ายเซลเดียวมีนามว่า zooxanthellae อยู่ในเนื้อเยื่อ สาหร่ายชนิดนี้เป็นตัวการที่จะสังเคราะห์แสงทำให้ปะการังได้รับอาหารและเจริญเติบโต ได้ดี จนปะการังและสัตว์อื่น ๆบางชนิด ต้องอาศัยแสงสว่างเป็นพลังงานผ่านสาหร่ายตัวจ้อยในการดำรงชีวิตในแต่ละวัน และหากเราเอาปะการังแบบนี้มาเลี้ยงในตู้ จึงจำเป็นต้องเอาอาหารของมัน ก็คือแสงสว่างนี่เอง
ผลของการให้แสงสว่างกับตู้ปลา
1. มีการสังเคราะห์แสงของ zooxanthellae ในเนื้อเยื่อปะการัง ทำให้ปะการังได้อาหาร
2. มีการสังเคราะห์แสงของแพลงตอนพืช และสาหร่ายในตุ้ ทำให้แพลงตอนพืชเติบโต ดูดซับแร่ธาตุต่าง ๆ ทั้งไนเตรต ฟอสเฟต แล้วขยายพันธุ์ เป็นอาหารให้แพลงตอนสัตว์ และปะการังอีกหลายชนิด
3. ทำให้สาหร่ายขนแมว และ ตะไคร่ ไดอะตอม สังเคราะห์แสงได้อาหาร เติบโต ทำให้ปกคลุมตู้และตู้ปลาไม่สวย
4. ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางเคมี photochemical ต่อสารต่าง ๆ ในตู้ปลา โดยเฉพาะสารประกอบพวก Dissolved Organic Material ( DOM ) ที่ทำให้น้ำมีสีเหลือง เกิด photodegradation ทำให้สลายตัวและน้ำมีสีเหลืองน้อยลง (Nina Corin 1999 )
5. Ultraviolet จากแสงสว่าง ช่วยฆ่าเชื้อโรคในตู้ปลาได้
6. ส่องให้ตู้ปลาเกิดความสวยงาม
หลายท่านเวลามาถามว่า ตู้ที่เลี้ยงปลาอย่างเดียว จำเป็นต้องให้แสงสว่างไหม ด้วยเหตุผลข้อ 2,4 และ 5 ผมจะตอบว่า ควรให้ครับ และควรให้มาก ๆ ด้วย แต่หากถามว่าต้องให้แสงสว่างมากเท่ากับการเลี้ยงพวกก้นตู้สังเคราะห์แสงไหม ก็ไม่ขนาดนั้นครับ แต่หากได้แสงดี ๆ มาก ๆ สุขภาพปลาของท่านย่อมดีกว่าแน่นอน
ใช้แสงสว่างกับก้นตู้หรือปะการังต่างๆ
การที่เราให้แสงสว่างในตู้เลี้ยงระบบนิเวศน์แนวปะการัง จุดประสงค์หลัก ก็คือ เพื่อทำให้สิ่งที่เราเลี้ยง สามารถดำรงอยู่ ( และอาจเพาะพันธุ์ต่อไป ) ได้ หลายคนคงเดยเดินตามร้านขายปลาและเขาแนะนำว่า ให้ซื้อหลอดฟลูออเรสเซนต์สีน้ำเงิน ( แอคตินิก ) สีแดงม่วง ( tri-tron ) มาใช้ 2-3 หลอด ก็เพียงพอ ปรากฏว่า เลี้ยงไป ๆ ทำไมก้นตู้มันดูไม่ค่อยบานหว่า แล้วก็ตายเอา ๆ
ดังนั้น ก่อนจะเข้าเรื่องว่าเราจะเลือกหลอดไฟอะไรให้ตู้ปลา เราควรมีพื้นฐานว่า จะเลือกอะไรดี
หากท่านได้เดินดูตามร้านขายหลอดไฟ สิ่งที่ท่านควรจะรู้เกี่ยวกับหลอดไฟ และความสว่างของแสงมีดังนี้
สีของไฟ
light color และความยาวคลื่นแสง wave length – แสง ( Visible Light )
เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดหนึ่งที่ตามองเห็นได้ มีความยาวคลื่น
ตั้งแต่ 400 ( ม่วง ) – 700 (แดง ) นาโนเมตร
ขณะที่ถ้าความยาวคลื่นทีน้อยกว่า 400 nm จัดอยู่ใน ultraviolet = เหนือม่วง และ มากกว่า 700 nm จัดอยู่ใน infrared = ใต้แดง
อุณหภูมิสี Correlated Color Temperature ( CCT )
อุณหภูมิสี บ่งบอกค่า เป็น K หรือ Kelvin
ทฤษฏีนี้ เป็นการวัดการกระจายแสงของวัตถุสีดำ black body ในจินตนาการทางฟิสิกส์ ที่ถูกทำให้ร้อน เมื่อร้อนช่วงแรก ๆ จะปลดปล่อยแสงที่อยู่ช่วงความเข้มแสงสีแดงซะมาก แล้วเปลี่ยนเป็นสีส้ม เหลือง ….ไปจนถึงน้ำเงิน (ท่านผู้อ่านลองนึกถึงขดลวดเตาไฟฟ้าดูครับ เวลาเย็นจะสีดำ เมื่อเริ่มร้อนจะสีแดง )
หลอดที่มีอุณหภูมิสีต่ำ 4000 K จึงดูออกแสงสีส้ม และจะถูกเรียกว่า warm light
หลอดที่มีอุณหภูมิสีสูง ๆ จะดูมีสีน้ำเงิน ( Cool light )
ความเข้มของแสง Light Intensity สามารถวัดได้หลายค่า เช่น แรงเทียน lumen lux
แรงเทียน หรือ candle power มีหน่วยเป็น cd หรือ candle 1 cd
หมายถึง เมื่อเราเอาแหล่งกำเนิดแสง มาวางไว้ที่กลางวัตถุทรงกลม มีรัศมี 1 ฟุต ในพื้นที่ 1 ตารางฟุตนั้น จะวัดความสว่างได้เท่ากับ 1 ฟุต-แคนเดิล ( 1 fc or หรือเท่ากับ 1 lumen/ ft2 ) อาจเรียกย่อว่า 1 lumen (lm) นั่นคือ ในพื้นที่ทรงกลม 1 ตารางฟุต จะมีเส้นแสงมาตก 1 เส้น หรือ 1 lumen
Lumen
เป็นการวัด flux หรือ ว่ามีพลังงานแสงออกมาจากแหล่งกำเนิดนั้น ๆ เท่าไหร่ ในเวลาหนึ่ง ๆ ( วัดเฉพาะแสงช่วงสายตามองเห็น ไม่ใช่พลังงานทั้งหมด )
Lux
เป็นการวัด illumination หรือ ความส่องสว่าง
การที่มีค่า Lux มากหรือตู้มีแสงสว่างจ้ามากๆนั้นอาจไม่ก่อให้เกิดการสังเคราห์แสงก็ได้หากหลอดที่ใช้มีคลื่นแสงที่ไม่เหมาะสม
ดังนั้นการดูด้วยตาเปล่าไม่สามารถบอกได้ว่าหลอดนี้เหมาะกับการเลี้ยงปะการังหรือไม่ จึงจำเป็นที่จะต้องอ่านค่า Spectrum จากข้างหลอดที่ผู้ผลิตเขียนมา
เมื่อทราบเกี่ยวกับ คุณสมบัติของความสว่างหลอดไฟ คร่าว ๆ แล้ว เราก็มาดูว่าสิ่งที่เราเลี้ยงอยู่นั่นต้องการแสงแบบไหน จะได้ให้ตรงกับสิ่งที่เราเลี้ยงต้องการจริง ๆ
ในธรรมชาติ สาหร่าย และ สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ จะใช้รงควัตถุ ในการดูดซับ photon ของแสงมาเป็นพลังงานในการสังเคราะห์แสง รงควัตถุแต่ละชนิด ก็มีความสามารถในการดูดซับแสงแต่ละความยาวคลื่น ( สีสเปกตรัม ) ไม่เท่ากัน แล้วจึงส่งผ่านพลังงานของแสงไปยังระบบการสังเคราะห์แสงอีกที
หมายเหตุ: แสงที่มีความเข้มข้นสูงมากเกินไป อาจทำให้เกิดการยับยั้งกระบวนการสังเคราะห์แสงได้
ตัวอย่างรงควัตถุที่ใช้สำหรับดูดกลืนแสง ในสิ่งมีชีวิต
Chlorophyll a จะดูดซับแสงได้ดีที่ 420 และ 660 นาโนเมตร
Chlorophyll b จะดูดซับแสงได้ดีที่ 435 และ 643 นาโนเมตร
Chlorophyll c จะดูดซับแสงได้ดีที่ 445 และ 465 นาโนเมตร
Chlorophyll d จะดูดซับแสงได้ดีที่ 450 และ 690 นาโนเมตร
Beta carotene จะดูดซับแสงได้ดีที่ 425 , 450 และ 480 นาโนเมตร
Alpha carotene จะดูดซับแสงได้ดีที่ 420 , 440 และ 470 นาโนเมตร
Luteol จะดูดซับแสงได้ดีที่ 425 , 445 และ 475 นาโนเมตร
Phycoerythrins จะดูดซับแสงได้ดีที่ 490 , 546 และ 576 นาโนเมตร
Phycocyanins จะดูดซับแสงได้ดีที่ 618 นาโนเมตร
Allophycocyanin จะดูดซับแสงได้ดีที่ 650 นาโนเมตร
หากเรารู้ว่าสีของแสงช่วงความยาวคลื่นใดถูกใช้มาก เราก็สามารถออกแบบของหลอดไฟที่เราจะเลือกใช้สำหรับการสังเคราะห์แสงให้เหมาะสมกับชนิดพันธุ์ของสาหร่าย zooxanthellae ในปะการัง
เมื่อเรารู้แล้วว่าแสงช่วงความยาวคลื่นใด เป็นแสงที่ทำให้เกิดการสังเคราะห์แสงขึ้น จึงกำหนดออกมาว่า ปริมาณแสงช่วงที่ความยาวคลื่น 400-700 nanometer ( บางตำราบอกที่ 300-720 nm )10 เราเรียกว่า PAR (Photosynthetically Active Radiation ) โดยจะวัดพลังงานแสงทั้งหมดของทุกแหล่งกำเนิดแสงที่ตกกระทบบนพื้นที่ผิว แต่ขณะที่ lumen จะวัดเป็นแสงที่ออกจากแหล่งกำเนิดเดียว
หลังจากรู้พื้นฐานคร่าว ๆ ของหลอดไฟแล้ว เราก็มาดูกันว่า เราจะเลือกใช้การให้แสงสว่างอย่างไรแก่ตู้ปลาทางเลือกของการใช้แสงสว่างกับตู้ปลา
1. แสงอาทิตย์
2. หลอดฟลูออเรสเซนต์, T5HO
3. หลอดเมทัลฮาไลด์
4. หลอด LED
การจะเลือกแหล่งกำเนิดแสง ประเภทใด อย่างที่ผมเกริ่นให้ตั้งแต่ต้น นั่นคือ เราควรจะหาหลอดที่มีค่า PAR มากกว่าหลอดที่ให้แสงมาก แต่ได้คลื่นแสงไม่ตรงกับที่ต้องการ ผมจะตัดตัวเลือก 5-6-7 ออกเนื่องจากเป็นหลอดที่ไม่นิยมใช้ในตู้ปะการัง นอกจากจะให้สีไม่สวยแล้ว ยังได้แสงในช่วงความยาวคลื่นที่ไม่มีความจำเป็น จึงเหลือแต่ตัวเลือกข้อ 1-2-3-4 เท่านั้น ผมจะพูดถึงข้อดีและข้อเสียของแหล่งกำเนิดแสงทั้ง 4 ก่อน โดยที่ยังไม่ได้กล่าวถึงแสงค่า PAR นะครับ
แหล่งกำเนิดแสง | ข้อดี | ข้อเสีย |
แสงอาทิตย์ | ประหยัด ได้แสงปริมาณมากไม่ต้องซื้อหาที่ไหน | อุณหภูมิร้อนขึ้น ไม่สามารถกำหนดเวลาที่จะเปิดปิดได้ มีแสง UV |
หลอดฟลูออเรสเซนต์ | ราคาไม่แพง หาง่าย อุณหภูมิไม่สูงนัก กินไฟไม่มาก มีหลายสีให้เลือก หาซื้อง่าย แต่หากหาหลอดจำเพาะ ก็ลำบากหน่อย | ได้แสงน้อย ค่าสีสเปกตรัมเสื่อมบ่อย ต้องเปลี่ยนหลอดบ่อย |
หลอดเมทัลฮาไลด์ | ให้ความสว่างมาก เลือกอุณหภูมิสีได้ | กินไฟมาก ราคาเริ่มต้นสูง มีปัญหาอุณหภูมิ มีแสง UV ไม่ขายตามร้านทั่วไป |
หลอด LED | มีอายุการใช้งานยาวนานไม่ต้องเปลี่ยนหลอดบ่อยบาง Brand สามารถตั้งค่าแสงได้ตามใจชอบไม่ทำให้อุณหภูมิในตู้สูงขึ้นประหยัดไฟ | ราคาต่อโคมค่อนข้างสูงมากหากประกอบเองมักได้หลอดที่มีคลื่นแสงไม่เหมาะสมในการเลี้ยงปะการังผู้ผลิตบางรายไม่มีหลอด UV มาให้ทำให้ไม่มีคลื่นแสง UV |
หากท่านใช้หลอด Metal Halide ก็อาจดูตามความสูงของตู้ได้ ค่าที่เขียนไว้สำหรับตู้ที่ต้องการแสงปานกลาง คือ
MH 150 watt เข้ากับตู้ลึกไม่เกิน 18 นิ้ว
MH 250 wattลึก 18 ถึง 24 นิ้ว
MH 400 wattลึก มากกว่า 24 นิ้ว
ถ้าตู้ที่ปะการังต้องการใช้ไฟแรง ๆ ท่านก็สามารถนำ MH 400 Watt มาเปิดได้แม้ในตู้ที่ลึก 18 นิ้ว
ตัวอย่างเช่น คุณมี ตู้ 36-16-18 นิ้ว คุณจะมีปริมาตรน้ำ ประมาณ 160 ลิตร หรือประมาณ 42 US gallon คุณควรจะใช้ไฟ 4 x 42 = 168 watt หรือเลี้ยงเขากวาง ก็ใช้ไฟ 8 x 42 = 334 watt
นั่นคือ ถ้าหากจะเลี้ยงพวกใช้แสงปานกลาง ( เช่น สมอง Favia sp. , Favite sp. ) คุณสามารถเลือกใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ขนาดปกติ ( Normal Output ) 40 watt เป็นจำนวน 4 หลอด แต่เอาเข้าจริงหลอด 40 watt ยาวเกินตู้ครับ ผมเองเลยเปลี่ยนใช้ 30 watt 4 หลอด แล้วเอามาติด reflector (จะพูดถึงต่อไป ) แล้ววางมันไว้แถวกึ่งกลางผิวน้ำใกล้ ๆ หลอดเอา ถึงจะเลี้ยงพวกเค้าให้ สดชื่นและเติบโตได้ดี หรือถ้าเลี้ยงเขากวาง ก็ใช้หลอดเมทัล 400 W อันเดียว หรือ 150 W 2 อันก็ได้
พอใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ เรื่องอุณหภูมิ ไม่เท่าไหร่ครับ แต่ผมก็พบกับอีก 3 ปัญหาใหญ่
1. พื้นที่ ๆ เราจะยุ่งกะตู้น้อยลง เนื่องจากมีหลอดไฟวางเกะกะเต็มไปหมด (เพื่อที่จะวางหลอดให้ได้มาก ๆจึงไม่ใช้โคม PVC ) ทำให้เราขี้เกียจดูแลตู้ไปโดยปริยาย
2. ขี้เกลือน้ำเค็มจับที่หลอดบ่อย ทำให้ความเข้มแสงลดลง แล้วยังไฟดูด บ่อยอีกด้วย ต้องคอยหยิบออกมาขัด
3. ค่าของความเข้มแสง และสี หลอดฟลู เสื่อมเร็วมาก ผมใช้ ๆ ไป ราว ๆ 3 เดือนก็ต้องเปลี่ยนแระ แถมบางทียังทู่ซี้ใช้ต่อก่อน จนได้เกือบปี ก็ไปอยู่ดี
MH ดีแต่ร้อนมาก
ด้วย 3 ข้อนี้ ผมก็ลองเปลี่ยนมาใช้ Metal Halide 150 Watt หลอดเดียวดู วางห่างจากน้ำ 30 ซม.ปรากฏว่าเห็นผลเลยครับ ทุกอย่างบานขึ้นทันตาเห็นในไม่กี่ชั่วโมง แถมเราก็มีที่ว่างสำหรับดูแลตู้เพิ่มขึ้น ดู้ดูสว่างขึ้นและสุขภาพดีขึ้นกว่าเดิม
แต่ทุกอย่างก็มีข้อด้อยครับ อุณหภูมิตู้ผมเพิ่มขึ้นมาอีก 2 องศา เลยต้องเอาพัดลมเพิ่มขึ้นมาอีกตัว แถมค่าไฟก็พุ่งขึ้นอีกเป็นร้อยเหมือนกัน
สำหรับมือใหม่
ผมไม่แปลกใจหรอกครับ ที่นักเลี้ยงตู้ทะเลหน้าใหม่หลายราย ซื้อแล้วก็ตามคนขาย คือ หลอดไฟ 2 หลอด อันนึงเป็นหลอด daylight อีกหลอดเป็น แอคตินิค เอามาเลี้ยง ๆ แล้วตัวที่ซื้อมาก็เล็กลง ๆ ๆ ส่วนนึงเป็นเพราะ อาหาร ( แสงสว่าง ) ไม่พอครับ ในที่นี้ ผมจึงอยากบอกทุกท่านว่า หลอดฟลูสามารถใช้เลี้ยงปะการังได้ หากให้ได้มากพอ
ในต่างประเทศ หลอดฟลูชนิดปกติหรือ NO ( Normal Output) มักให้แสงที่น้อย และทำให้เกิดความเกะกะ ขอจำนวนหลอด เค้าจึงเปลี่ยนมาใช้หลอดที่ให้แสงมากกว่า หรือ High Output ( HO) ไม่ค่อยเหลือแล้วหละครับ และ หลอดที่ให้แสงจัดเป็นพิเศษ ( Very High Output = VHO ) กัน ทำให้ได้ค่าของแสงสูงกว่าในปริมาณที่น้อยกว่า หลอดทั้ง 2 ชนิดนี้หาซื้อยากครับ แต่ในเมืองไทย มีหลอดที่ใกล้เคียงกับ VHO ก็คือพวกหลอดตะเกียบประหยัดไฟไงครับ เหมามาหลาย ๆ หลอดใส่ให้เยอะ ๆ ก็สว่างดีครับ
หลอด LED ที่กำลังเป็นที่นิยม เลี้ยงปะการังได้หรือไม่?
ช่วงหลังนี้กระแส LED มาแรงมากเนื่องจากเป็นไฟที่ใฝ่ฝันของนักเลี้ยงปลาหลายๆท่าน ในแง่ของเรื่อง
1. ไม่ต้องเปลี่ยนหลอด
2. กินไฟน้อย
3. ไม่ร้อน
3 เหตุผลนี้ทำให้หลายๆท่านเริ่มสนใจใน LED กันมากขึ้น แต่ทว่า LED ที่เป็นเส้นๆขายกันทั่วไปนั้นบางชนิดอาจมี Spectrum ที่ไม่เหมาะสมกับการสังเคราห์แสงของปะการังก็เป็นได้
แล้วเราจะทราบได้อย่างไรล่ะ
หากมี PAR Meter ก็จะสามารถเช็คได้หรืออาจจะตรวจสอบกับผู้ผลิตว่า คลื่นแสงเหมาะสมหรือไม่
LED ที่มีคลื่นแสงเหมาะสมและใช้เลี้ยงได้จริงในตอนนี้
Aqua illumination , AI Vega , Ai Sol , Ai Hydra , Ai Hydra 52
Ecotech Radion
Sunledking LED
ภาพคลื่นแสงที่วัดจาก Ai Hydra 52
เปิด 100% บริเวณผิวน้ำที่ยกห่างจากตู้ 13″
จะเห็นว่าค่า PAR สูงมากถึง 600+ เป็นค่าที่ปะการังสามารถนำไปสังเคราะห์แสงได้
และมีค่า LUX มากถึง 22000+ นั่นคือค่าความสว่าง
ลองดู Spectrum จะเห็นว่ามีคลื่นแสงช่วง 420-475 นาโนเมตร ค่อนข้างสูงมากเลยทีเดียว นอกจากนั้นแล้วช่วง 650 นาโนเมตรก็สูงเช่นกัน
เส้นสีเทาเป็นเส้นที่วัดจากโคม
เส้นสีรุ้งเป็นเส้นที่บ่งบอกคลื่นแสงที่ปะการังใช้สังเคราะห์แสงได้
ตารางเปรียบเทียบความสว่างของตัวอย่างหลอดไฟแบบต่าง ๆ ที่ใช้กัน
(หลอดไฟต่างยี่ห้อ ก็ให้แสงไม่เท่ากันนะครับ ค่า PAR ที่เห็นอาจต่ำกว่าที่ต้องการ เนื่องจากเกิดจากการคำนวนตามข้อมูลของ flux กับแต่ละ spectrum ไม่ได้เป็นค่าที่วัดจริง ๆ ดูเป็นแนวทางพอนะ)
ชนิดของหลอด | Watt Consumption | rated lumen | Lumen/watt | PAR µE/s | PAR /watt |
Normal Output | 40 | 2250 | 56.25 | 40.5 | 1.01 |
High output | 54 | 5000 | 92.59 | 72.2 | 1.31 |
Very High Output | 115 | 7500 | 65.22 | 105 | 0.916 |
Power compact | 96 | 8100 | 84.37 | 117 | 1.22 |
PL | 55 | 3800 | 69.09 | 62.8 | 1.14 |
MH | 150 | 12000 | 80 | 199 | 1.33 |
MH | 250 | 23000 | 92 | 310 | 1.25 |
คลื่นแสง UV ? กับปะการัง
คลื่นแสงที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นคลื่นที่จำเป็นแก่การให้พนังงานกับปะการัง
มีคลื่นแสงบางประเภทที่ช่วยทำให้เกิดสีของปะการังขึ้นอย่างคลื่นแสง UV ที่จะพูดถึงในบทความหน้าครับ